ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ข่าวเด่น 2565 "สังหารหมู่หนองบัวลำภู-แตงโมตกเรือ"

สังคม
31 ธ.ค. 65
16:41
983
Logo Thai PBS
ข่าวเด่น 2565 "สังหารหมู่หนองบัวลำภู-แตงโมตกเรือ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยพีบีเอสออนไลน์รวบรวม 5 เหตุการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2565 ที่สร้างความสูญเสียเป็นวงกว้าง และบางเหตุการณ์ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมเช่นกัน

สังหารหมู่หนองบัวลำภู

ช่วงเที่ยงวันของวันที่ 6 ต.ค.2565 เกิดเหตุชายคนหนึ่งขับรถกระบะเข้ามา ใช้อาวุธปืนและมีด ทำร้ายครูและนักเรียนภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู โดยผู้ก่อเหตุเป็นอดีตตำรวจ สภ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งใช้อาวุธปืนยิงครอบครัวและตัวเองเสียชีวิตหลังจากก่อเหตุ

ต่อมา เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2565 เมื่อเวลา 22.16 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมผู้บาดเจ็บพร้อมกับพระราชทานกำลังใจแก่ผู้บาดเจ็บ และครอบครัวผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่ของราษฎร จ.หนองบัวลำภู พร้อมพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อพระราชทานกำลังใจแก่ครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ครั้งนี้

หลังจากที่ข่าวถูกนำเสนอไปแล้วนั้น ก็มีผู้นำโลกและสถานทูตหลายประเทศ ร่วมแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์กราดยิงในประเทศไทยจำนวนมาก

ทางด้าน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. คาดว่าผู้ก่อเหตุที่ศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภู มีพฤติกรรมเสพยาเสพติด เกิดความเครียด และหลอน จึงก่อเหตุดังกล่าวขึ้น และนอกจากการสืบสวนในคดีนี้แล้ว ทางตำรวจยังควบคุมตัว 2 นักข่าวต่างประเทศจาก CNN ที่ละเมิดจรรยาบรรณวิชาชีพ ด้วยข้อหาบุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการและผลักดันออกประเทศในเวลาต่อมา

เรือหลวงสุโขทัยอับปางกลางอ่าวไทย

เหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปางกลางทะเล จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ่าวไทย ภายในระยะเวลาเพียง 5 ชั่วโมงเศษ เมื่อคืนวันที่ 18 ธ.ค.2565 นับเป็นอีก 1 เหตุการณ์สูญเสียยิ่งใหญ่ของครอบครัวผู้สูญเสียและกองทัพเรือของไทย สำหรับรายชื่อกำลังพลที่เสียชีวิต ซึ่งสามารถเพื่อยืนยันตัวบุคคลได้แล้ว จำนวน 23 นาย ขณะที่ความพยายามในการค้นหาอีก 5 ผู้สูญหายก็ยังคงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ด้วยความหวังอันริบหรี่ของครอบครัว ที่รอเจอกับบุคคลอันเป็นที่รัก แม้จะกลับมาสภาพใดก็ตาม

เหตุการณ์นี้ สร้างคำถามให้กับสังคมเป็นจำนวนมาก ทั้งเรื่องของจำนวนกำลังพลที่ขึ้นไปมากกว่าจำนวนอัตราเต็มที่ที่เรือระบุไว้ จำนวนเสื้อชูชีพที่ไม่พอกับกำลังพลทั้งหมด การสั่งการของผู้บังคับการเรือในสภาวะวิกฤต รวมไปจนถึงงบฯ บำรุงซ่อมแซมเรือที่มาจากบางกระแสข่าวว่า เรือนั้นไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมออกทะเล

ในส่วนของการสอบสวนเหตุการณ์นั้น ทางกองทัพเรือยืนยันต่อสังคมว่า มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนบุคคลทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์แล้ว พร้อมบอกว่า กองทัพเรือพร้อมชี้แจงในเรื่องที่สามารถชี้แจงได้ แต่ในเรื่องที่เป็นความลับทางราชการก็ขอสงวนไว้

“แตงโม” ตกเรือเสียชีวิต

แตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์ พลัดตกน้ำกลางแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 7 ในวันที่ 25 ก.พ.2565 ช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. 

เหตุการณ์นี้สร้างความประหลาดใจบนโลกโซเชียล จนก่อให้เกิดนักสืบโซเชียลมากมาย เพราะคำกล่าวอ้างของบุคคลบนเรือที่เดินทางไปพร้อมกับแตงโมที่ว่า

แตงโม เดินไปปัสสาวะที่ท้ายเรือ จึงพลัดตกเรือ

แม้ทางตำรวจจะสรุปสำนวนคดีนี้ว่าเป็นอุบัติเหตุ และส่งฟ้องจำเลยทั้ง 6 คนในข้อหา “กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” และอีกหลายข้อหาไปแล้วนั้น แต่เหตุการณ์อีกหลายเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือสำนวนคดี ก็ยังเป็นที่สงสัยของสังคมมาตลอดเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา อีกทั้งเหตุการณ์นี้ยังทำให้เห็นถึงตัวละครต่างๆ มากมายที่มีทั้งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งทางตรง ทางอ้อม หรือไม่ได้เกี่ยวข้องเลย

 

8 ปี “ประยุทธ์”

ถือเป็นเหตุการณ์ของประเพณี (บ้าๆ บอๆ) เริ่มต้นของที่มาฉายานายกรัฐมนตรีที่สื่อทำเนียบฯ ตั้งให้ “แปดเปื้อน” จากการยื่นคำร้องของ 171 ส.ส.ฝ่ายค้านต่อประธานรัฐสภา นายชวน หลีกภัย เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยวาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "พล.อ.ประยุทธ์" พร้อมขอให้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าศาลจะวินิจฉัย

ซึ่งภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้วนั้น

มติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2565 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

มีนักวิชาการ รวมถึงนักการเมืองหลายคนได้ออกมาพูดถึงแนวทาง 3 แนวทางสำหรับทางออก 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ และในที่สุดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยตอนหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้อย่างชอบธรรม และสามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้

เมื่อผู้ถูกร้อง (พล.อ.ประยุทธ์) ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 นับตั้งแต่ 6 เม.ย.2560 ถึงวันที่ 24 ส.ค.2565 ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกฯ ยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่

นอกจากเหตุการณ์นี้จะเป็นที่มาของฉายา “แปดเปื้อน” แล้ว ยังสร้างฉายา “ลองนายกฯ” ให้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ต้องขึ้นดำรงตำแหน่ง “รักษาการนายกรัฐมนตรี” ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย

ภัยพิบัติน้ำท่วม

ภาคเหนือ-ภาคอีสานน้ำท่วม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแทบทุกปี แต่สำหรับภัยพิบัติน้ำท่วมปี 2565 ที่แทบทุกพื้นที่ประสบภัยต้องนำมาเปรียบเทียบกับ "น้ำท่วมปี 54" เพราะสาเหตุหลักจากปรากฏการณ์ "ลานีญา" ที่กระทบแทบทั่วโลก ทำให้ปีนี้มีน้ำหลากในฤดูฝนมากขึ้นกว่าปกติ 

เริ่มที่ กทม. และปริมณฑล น้ำท่วมปี 2565 ถือเป็นเหตุการณ์รับน้องกับการจัดการน้ำในกรุงของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนล่าสุด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ถือว่าระบายน้ำได้ไว แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่สามารถแก้ไขได้ถูกใจคนกรุงมากนัก

ส่วนทางภาคเหนือ ก็น่าวิตกไม่น้อย เพราะข่าวการเฝ้าจับตามวลน้ำที่ไหลจาก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่มีมากกว่าความสามารถการรับน้ำของแม่น้ำปิง ทำให้เชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงถูกน้ำท่วมหนัก สร้างความเดือดร้อนให้บ้านเรือนหลายแห่งที่ต้องทนอยู่กับน้ำร่วมอาทิตย์ยาวนานเกือบเดือน

แต่ที่สร้างความเสียหายมากที่สุดคือ พื้นที่แถบอีสาน โดยเฉพาะ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ที่ถูกอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นโนรู แม้จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเมื่อถึงฝั่งไทยแล้ว แต่ก็ถือว่าสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง นอกจากนั้นแล้วปัญหาภูมิประเทศ พื้นที่ลุ่ม ระบายน้ำยาก ก็ทำให้การระบายน้ำลงแม่น้ำโขงเป็นไปได้ยากเช่นกัน นับเป็นเวลาร่วม 2 เดือนที่ประชาชนแถบอีสานต้องเผชิญกับภัยพิบัติน้ำท่วม แต่เรื่องของการเยียวยา การปรับปรุงพื้นที่หรือสิ่งที่สูญเสียไปนั้น คงต้องใช้เวลาอีกนาน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง