วันนี้ (9 ม.ค.2566 ) เป็นวันแรกที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเริ่มใช้ระบบตัดแต้มใบขับขี่ สำหรับผู้กระทำผิดกฎจราจร เพื่อหวังลดอุบัติเหตุและสร้างวินัยจราจร
ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่รับผิดชอบของ สน.ดินแดง และ สน.วิภาวดี ซึ่งมักพบกรณีขับรถย้อนศรเสี่ยงอันตราย และกรณีขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด โดยส่วนใหญ่ไม่ทราบข่าวการตัดแต้มใบขับขี่ และเห็นว่า การแก้ปัญหาวินัยจราจร นอกจากการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดแล้ว จิตสำนึกของผู้ขับขี่มีความสำคัญมากกว่า
ขณะเดียวกัน นายศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมุมมองจากนักวิชาการสะท้อนว่า ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมาย หรือข้อบังคับที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ได้มีการบูรณาการร่วมกันของแต่ละหน่วยงาน และยังไม่ได้สร้างความตระหนักให้กับผู้ใช้รถที่ทำผิดกฎหมาย จึงยังไม่บรรลุเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน
โดย พ.ต.อ.สุกิจ อรุณฤกษ์ถวิล รองผู้บังคับการตำรวจจราจร 3 เปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า ได้เริ่มระบบตัดแต้มใบขับขี่อย่างเป็นทางการแล้วนับตั้งแต่เที่ยงคืนที่ผ่านมา
โดยผู้ขับขี่ทุกคนจะมีคะแนนเท่ากัน คือ 12 คะแนน ซึ่งจะถูกตัดแต้มจาก 2 กรณี ได้แก่ การถูกจับซึ่งหน้า ตัดแต้มผู้ขับขี่ได้ทันที และกรณีการกระทำความผิดที่ไม่พบตัวคนขับ เช่น จอดรถในที่ห้ามจอดแล้วถูกออกใบสั่ง หรือขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนดและถูกกล้องตรวจจับไว้ได้ จะตัดแต้มที่เจ้าของรถ ซึ่งเจ้าของรถมีสิทธิ์โต้แย้งได้ว่า ตนเองไม่ได้ขับขี่ขณะนั้น ก็จะไม่ถูกตัดแต้ม
อ่านข่าว : เช็กเกณฑ์ตัดแต้มใบขับขี่
หาก 12 คะแนนหมดลง จะถูกพักใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา 90 วัน เมื่อพ้น 90 วันแล้ว กลับมาขับขี่ได้ แต่จะไม่ได้คะแนนคืน หรือกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน ไม่สามารถรอพ้น 90 วันได้ ให้ผู้ขับขี่ ติดต่อขออบรมกับกรมการขนส่งทางบก และให้ขนส่งพิจารณา หากผ่านเกณฑ์ ทางขนส่งจะประสานมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาอนุญาตต่อไป แต่หากฝ่าฝืนขับรถขณะถูกพักใช้ใบขับขี่ จะมีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความพร้อมใช้ กม.ตัดแต้ม
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายลดอุบัติเหตุ มองว่า เป็นเรื่องดีที่จะยกระดับการควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ แต่ยังตั้งข้อสังเกตถึงความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำงานเรื่องนี้
การตัดแต้มผู้ขับขี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายลดอุบัติเหตุ บอกว่า หลายประเทศใช้กันและได้ผล
อย่างไรก็ตามเวลาที่ประเทศไทยนำเครื่องมือจากต่างประเทศมาใช้ เรายังทำไม่เต็มรูปแบบ เพราะยังไม่แน่ใจว่า มีการศึกษารูปแบบ และวิธีการทำงานเครื่องมือนี้กันมากน้อยแค่ไหน และกำลังคนรวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานก็ยังไม่มีอะไรเพิ่มเลย เช่น เครื่องมือที่จะใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน
ส่วนวิธีการป้องกันผู้กระทำผิดซ้ำ นอกจากการเพิ่มโทษที่มีระบุไว้ในกฎหมายใหม่แล้ว ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายลดอุบัติเหตุ เห็นว่า ต้องมีการสื่อสารและทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น เพื่อให้ทุกคนรู้ว่า การตัดแต้มมีผลต่อชีวิต และโทษที่ได้รับก็จะรุนแรงขึ้น ทำให้คนจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ไม่มากก็น้อย