“ข้าวสาลี” เป็นหนึ่งในพืชเกษตรกรรมที่ผู้คนกว่า 2,500 ล้านคน จาก 89 ประเทศทั่วโลกต่างบริโภคเป็นอาหารหลัก ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนพลังงานแคลอรีที่ได้รับกว่า 20% จากแหล่งอาหารประเภทอื่น แต่ทว่าวิกฤตภาวะโลกร้อนในปัจจุบันนั้น ก็ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวสาลี ซึ่งมีปริมาณลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในแถบประเทศสภาพภูมิอากาศเขตอบอุ่นอย่าง ยุโรป และอเมริกาเหนือ
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาไฟป่าที่เกิดบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ หรือคลื่นความร้อน (Heat Wave) ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ถึงขนาดที่ว่าในบางทีอุณหภูมิในยุโรปพุ่งสูงถึง 40 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารที่ร้ายแรงตามมาได้ในอนาคต
ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยจอห์นอินเนส (John Innes Centre) ประเทศอังกฤษ ก็ได้ค้นพบข้าวสาลีที่มีอยู่ตามธรรมชาติแถวประเทศสเปน และโปรตุเกส สามารถเติบโตในภูมิอากาศร้อนได้เป็นอย่างดี แต่กลับให้ผลผลิตที่ต่ำกว่าข้าวสาลีที่นิยมใช้ในภาคเกษตรกรรม
นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ จึงได้พยายามคัดแยกยีนจากข้าวสาลีป่าที่ทนต่อความร้อนได้ออกมา เพื่อใช้ตัดต่อพันธุกรรมเข้าไปในข้าวสาลีที่มีอยู่เดิม ซึ่งกลับให้ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามเป้ามากนัก เนื่องจากถึงแม้ข้าวสาลีที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมขึ้นมาใหม่ จะสามารถทนต่อสภาพอากาศร้อน และให้ผลผลิตเหมือนกับข้าวสาลีที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปได้จริง ๆ แต่ก็กลับมีคุณลักษณะจากข้าวสาลีป่าติดมาด้วยอยู่ดี
โดยที่มาของปัญหานี้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าเกิดจากความซับซ้อนทางโครงสร้างรหัสพันธุกรรมของข้าวสาลี ซึ่งมีจีโนมบรรพบุรุษ (Ancestral Genome) หรือ DNA ที่สืบทอดมาจากข้าวสาลีต้นแรก 2-3 ต้น ในขณะที่มนุษย์ทั่วโลกนั้น มีจีโนมบรรพบุรุษ ที่สืบทอดมาจากมนุษย์คนแรกเพียงคนเดียวเท่านั้น
หากนักวิทยาศาสตร์สามารถตัดต่อพันธุกรรมให้ข้าวสาลีทนทานต่ออากาศร้อน และให้ผลผลิตปริมาณเทียบเท่ากับสายพันธุ์ข้าวสาลีปกติได้สำเร็จ ก็จะช่วยยุติปัญหาความอดอยากที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
ที่มาข้อมูล: The Guardian
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech