กรณีชายชาวจ.บุรีรัมย์ ถูกยิงเสียชีวิต ขณะออกไปดักซุ่มจับแก๊งขโมยมันสำปะหลัง ที่ตระเวนขโมยขุดมันชาวบ้านในพื้นที่ เพราะราคาดี ตำรวจยังไม่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้
วันนี้ (11 ม.ค.2566) ตำรวจจังหวัดบุรีรัมย์ เร่งหาข้อมูลเบาะแสเชิงลึก แกะรอยกล้องวงจรปิด เพื่อติดตามตัวผู้ก่อเหตุยิงนายมานพ พั่วชู อายุ 45 ปี เกษตรกรบ้านปลื้มพัฒนา ต.โคกมะม่วง อ.ปะคำ เสียชีวิตในไร่มันสำปะหลัง เขตตำบลโคกมะม่วง เมื่อคืนวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่เขาพยายามไปดักซุ่มจับคนร้ายที่จะแอบมาขโมยมันสำปะหลังในไร่ที่ปลูกเอาไว้ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีคนมาขโมยขุดมันของเกษตรกรหลายรายในหมู่บ้าน รวมถึงไร่ของผู้ตาย ก็เคยถูกขโมยด้วยเช่นกัน เพราะช่วงนี้มันสำปะหลังราคาดี กิโลกรัมละ 3 บาท ชาวบ้านบอกว่าขายได้กำไรมากกว่าข้าว หรือพืชไร่อื่นๆอีก
ตำรวจตั้งประเด็นหลักในการสอบสวนคือ การขโมยมันสำปะหลัง แต่ไม่ทิ้งประเด็นความขัดแย้งส่วนตัว ขณะที่เกษตรกรในพื้นที่ก็อยากให้ตำรวจเร่งตามจับคนก่อเหตุมาดำเนินคดี โดยระหว่างนี้ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวัง ในการเฝ้าไร่มัน
นายทองใส แหวนมุข ผญบ.ปลื้มพัฒนา ต.โคกมะม่วง อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ บอกว่า คนเสียชีวิตมีมีดถาวสวนและคิดว่าน่าจะเจอคนที่จะเข้ามาขโมยมันสำปะหลัง และได้เตือนลูกบ้านให้ระวังมากขึ้น เพราะมีทั้งพวกที่โดนขโมยอุปกรณ์ในไร่มัน
ขับรถตรวจจับขโมยขุดมัน
ส่วนเกษตรกรใน ต.กุดโบสถ์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา จะคอยขับรถออกตรวจพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง เพื่อเฝ้าระวังกลุ่มคนที่มาขโมย หรือที่เรียกกันว่าแก๊งขโมย-ขุดหัวมัน ที่จะตระเวนก่อเหตุบ่อยครั้งในช่วงที่ราคามันปรับสูง 2-3 ปีที่ผ่าน หลังราคามันสำประหลังสูงถึงกิโลกรัมละ 3.50 บาท ทำให้เกษตรกรบางคนต้องนอนเฝ้าไร่มัน และช่วยกันสอดส่องดูแล
ขณะที่จ.กาฬสินธุ์ ชาวนาใน ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด ได้ปรับที่นา-เปลี่ยนมาปลูกมันสำปะหลังเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปลูกง่าย ดูแลง่าย ทนต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ไม่ต้องใช้น้ำเยอะ ใช้ปุ๋ยเคมีปริมาณน้อย และที่สำคัญราคาหัวมันปรับสูงถึงกิโลกรัมละ 3 บาท เป็นพืชที่ทำให้เกษตรได้กำไร
ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยให้เห็นว่า มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับเกษตร มีราคาในอยู่ในเกณฑ์ดี และปรับสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน
ผลผลิตมันสำปะหลังจะเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหารสัตว์ และเอทานอล ส่วนความต้องการผลิต ภัณฑ์มันสำปะหลังภายในประเทศ มีประมาณร้อยละ 24-34 และส่งออก ร้อยละ 66-76
สาเหตุที่ทำให้เกษตรกรขายมันสำปะหลังได้ราคาดี เพราะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2566 คาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นจากปี 2565
เนื่องจากประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้ามันสำปะหลังที่สำคัญของไทย ยังมีความต้องการ และมีแนวโน้มว่าต่างประเทศจะนำเข้าเป็นวัตถุดิบทางเลือกในการทำอาหารสัตว์ของเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน