ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 60 ปี

ต่างประเทศ
18 ม.ค. 66
08:20
3,984
Logo Thai PBS
ประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 60 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อีกหนึ่งวิกฤตที่จีนกำลังเผชิญ นอกเหนือจากเรื่องโควิด-19 ซึ่งก็คือปัญหาเกี่ยวกับจำนวนประชากรในประเทศ ซึ่งข้อมูลล่าสุดระบุว่า ในปีที่แล้ว ประชากรจีนลดจำนวนลงเป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 60 ปี

นอกจากจำนวนประชากร จะลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1961 แล้ว อัตราการเกิดยังแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูล ขณะที่อัตราการเสียชีวิตแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1974 อีกด้วย

สำนักสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาจำนวนประชากรจีนในแผ่นดินใหญ่ลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 850,000 คน ถือเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 60 ปี

นอกจากนี้ ในปีที่แล้วจำนวนเด็กเกิดใหม่ในจีนอยู่ที่ 9,560,000 คน น้อยกว่าปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 10,620,000 คน หรือคิดเป็นอัตราการเกิดอยู่ที่ 6.77 ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในประเทศ

โดยเกิดขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมาตรการปิดเมืองที่บังคับใช้เป็นวงกว้าง ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 10,140,000 คน เป็น 10,410,000 คน หรือคิดเป็นอัตราการเสียชีวิตที่ 7.37 ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1974 อีกด้วย

ส่วนสาเหตุที่จำนวนประชากรในจีนลดลงเป็นผลจากหลากปัจจัย ทั้งค่าครองชีพที่พุ่งสูง ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นและมีลูกช้าลง รวมทั้งนโยบายมีลูกคนเดียวที่บังคับใช้อย่างเข้มงวดระหว่างปี 1980 - 2015 ซึ่งนโยบายดังกล่าวกีดกันเด็กเกิดใหม่ถึง 400 ล้านคน โดยในปี 2016 จีนอนุญาตให้มีลูกคนที่ 2 และในปี 2021 ทางการจีนอนุญาตให้มีลูกคนที่ 3 ได้

นอกจากนโยบายลูกคนเดียวแล้ว ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่สูงและตัวเลือกในการดูแลลูกที่มีอย่างจำกัด ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวจีนจำนวนมาก เลือกที่จะมีลูกเพียงคนเดียว หรือไม่มีเลย

แม้ว่าในช่วงหลายปีมานี้ รัฐบาลจะออกมาตรการจูงใจให้มีบุตรเพิ่มขึ้น เช่น การลดหย่อนภาษี การลาคลอดที่นานขึ้นแต่ก็ไม่เป็นผลเท่าไหร่นัก

นอกจากนี้ในปีที่แล้ว ยังมีมาตรการเพิ่มเติมออกมาอีกหลายอย่าง ทั้งมีการเรียกร้องให้รัฐบาลส่วนกลางและภูมิภาคใช้งบประมาณในการพัฒนาการให้บริการด้านสุขภาพสำหรับเด็กทั่วประเทศ

ทั้งนี้ มีการออกมาตรการใหม่เพื่อส่งเสริมชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นและทางเลือกในการทำงานจากบ้านสำหรับพนักงานที่มีบุตร และมีการเรียกร้องให้หน่วยงานท้องถิ่นจัดหาที่อยู่อาศัยพิเศษสำหรับครอบครัวที่มีลูกหลายคน เช่น จัดหาอพาร์ตเมนต์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นให้

นอกจากนี้ในเมืองเซินเจิ้น ทางตอนใต้ของจีน ให้เงินช่วยเหลือแก่คู่รักที่มีลูกคนที่ 3 ขึ้นไปปีละ 6,000 หยวน หรือประมาณ 30,000 บาทจนกว่าลูกจะมีอายุครบ 3 ขวบ และในเมืองจี่หนาน คุณแม่ที่มีลูกคนที่ 2 หรือ 3 สามารถรับเงินช่วยเหลือเดือนละ 600 หยวนหรือประมาณ 3,000 บาทจนกว่าลูกจะมีอายุครบ 3 ขวบ

ส่วนถ้าถามความเห็นชาวจีน บางคนระบุว่า ต่อให้รัฐอนุญาตให้มีบุตรคนที่ 2 หรือ 3 ก็ไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ เพราะทุกวันนี้การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งต้องใช้เงินมากมาย กว่าจะโตจนหางาน แต่งงานมีครอบครัวและมีลูกเองได้ หลายคนจึงไม่คิดมีลูกมากกว่า 1 คน

ขณะที่หลายครอบครัวซึ่งเกิดในช่วงทศวรรษที่ 1980 และเป็นรุ่นที่เป็นลูกคนเดียวกันทั้งสิ้น มองว่า ปัจจุบันแม้จะแต่งงานมีครอบครัว แต่ถ้านับรวมคนที่ต้องเลี้ยงดูระหว่างพ่อแม่ตัวเองบวกกับพ่อแม่ของคู่สมรส รวมแล้วคนวัยทำงาน 2 คน จะมีผู้สูงอายุให้ดูแลถึง 4 คนด้วยกัน ซึ่งต่อให้รัฐหนุนให้มีลูกเพิ่มเป็น 3 คน ก็คงรับภาระไม่ไหว

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติ มองว่า ในระยะยาวจำนวนประชากรจีนจะลดลง 109 ล้านคนภายในปี 2050 มากกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าในปี 2019 ถึง 3 เท่า

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า ในปีนี้อินเดียจะแซงหน้าจีนและขึ้นครองตำแหน่งประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แม้ว่าจำนวนประชากรอินเดียจะเติบโตขึ้นอย่างช้า ๆ ก็ตาม

อัตราการเติบโตของจำนวนประชากรของอินเดียตั้งแต่ปี 2011 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 % ลดลงจาก 10 ปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 1.7 %

ส่วนอัตราการเจริญพันธุ์ ในปี 2019 - 2021 ของอินเดียนั้นลดลงมาอยู่ที่ 2.0 จาก 3.4 เมื่อเทียบกับปี 1992-1993

ขณะที่ 27.3 % ของประชากรทั้งหมด มีอายุระหว่าง 15-29 ปี ทำให้อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศในประเทศที่มีประชากรอายุน้อยมากที่สุดในโลกด้วย

โดยแม้ว่าจะทำให้มีข้อได้เปรียบ เช่น มีแรงงานที่มีอายุน้อยมากขึ้น แต่ก็ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและทรัพยากรในประเทศเช่นกัน และชาวอินเดียเองออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการควบคุมจำนวนประชากรในประเทศด้วย 

ปัจจุบันอินเดียมีประชากรประมาณ 1.38 พันล้านคน ขณะที่จีนมีประชากรราว 1.4 พันล้านคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง