ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บทวิเคราะห์ : นาฬิกาวันสิ้นโลก

ต่างประเทศ
24 ม.ค. 66
14:30
1,278
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : นาฬิกาวันสิ้นโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตลอดปีที่แล้วจนถึงปีนี้ หลายภูมิภาคของโลกเผชิญกับสงครามและความขัดแย้งรุนแรงมากมาย โดยเฉพาะการสู้รบในยูเครนที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดสงครามนิวเคลียร์มากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนออกมาบอกว่าโลกของเราเข้าใกล้หายนะมากขึ้นทุกที หากยังไม่มีใครหยุดยั้งวิกฤตนี้

ความกังวลนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตัวชี้วัดหนึ่งที่ชัดเจนคือ ตัวเลขบอกเวลาบนหน้าปัดนาฬิกาวันสิ้นโลก

Doomsday Clock หรือ นาฬิกาวันสิ้นโลก เป็นนาฬิกาที่จะช่วยสะท้อนให้เห็นว่า โลกของเรากำลังเข้าใกล้หายนะมากแค่ไหน โดยจะกำหนดให้เวลาเที่ยงคืน คือ เวลาที่อารยธรรมโลกล่มสลาย ดังนั้นทุกๆ ครั้ง ที่เข็มยาวบอกนาทีเคลื่อนเข้าใกล้เวลานี้มากเท่าไหร่ นั่นหมายความว่า โลกเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น

ตอนนี้ เวลาของโลกใบนี้อยู่ตรงไหน ครั้งสุดท้ายที่มีการประกาศเวลาบนหน้าปัดนาฬิกาวันสิ้นโลก คือ เมื่อวันที่ 20 มกราคม ปีที่แล้ว ซึ่งเวลาถูกตั้งเอาไว้ที่อีก 100 วินาทีก่อนจะถึงเที่ยงคืน ซึ่งตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า สถานการณ์ความตึงเครียดในโลกกำลังเข้าขั้นวิกฤต

แต่ใครเป็นคนตั้งนาฬิกาเรือนนี้ และวัดจากเงื่อนไขอะไร

คนที่มีอำนาจตัดสินใจ คือ สมาชิก 22 คน ในคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และความมั่นคงของวารสารนักวิทยาศาสตร์ด้านอะตอม ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหลายแขนงในนครชิคาโกของสหรัฐฯ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยง โดยจะพิจารณาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีก่อนหน้า และปรึกษากับคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งที่มีเจ้าของรางวัลโนเบล 11 คน รวมอยู่ด้วย

อย่างการตั้งเวลาเมื่อปี 2022 คณะผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่าโลกยังคงอยู่ในช่วงเวลาที่อันตรายอย่างมาก อันเป็นผลมาจากวิกฤตหลายอย่าง โดยมีการหยิบยกเหตุการณ์สำคัญมากมายขึ้นมากพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นเหตุบุกยึดอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ความตึงเครียดระหว่าง 3 ชาติมหาอำนาจ การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในหลายประเทศ ไปจนถึงโควิด-19 และโลกร้อน

ไอเดียการใช้นาฬิกาบอกเวลาหายนะ ริเริ่มขึ้นโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในโครงการ "แมนฮัตตัน" ซึ่งสร้างระเบิดอะตอมลูกแรกของโลก ก่อนที่จะถูกนำไปใช้โจมตีญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนาฬิกาวันสิ้นโลกเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1947 และระบุว่าอีก 7 นาที จะเที่ยงคืน

ส่วนสาเหตุที่ต้องเป็น 7 นาที มีการระบุเอาไว้บนเว็บไซต์ทางการ ว่าเป็นเพราะศิลปินนักออกแบบหน้าปกวารสารของกลุ่ม มองว่า แบบนี้ดูดีกว่าตำแหน่งอื่น ขณะที่ 2 ปีหลังจากนั้น เข็มนาฬิกาเรือนนี้เริ่มขยับเป็นครั้งแรก จาก 7 นาที เหลือเพียง 3 นาที ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้น หลังจากสหภาพโซเวียตทดสอบระเบิดนิวเคลียร์เป็นครั้งแรก

จะเห็นได้ว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ถูกยกขึ้นมาให้ความสำคัญในช่วงแรกๆ ของการประเมินหายนะของโลก นั่นคือ วิกฤตนิวเคลียร์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรยากาศของสงครามเย็น ขณะที่การเผชิญหน้าของสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตในหลายภูมิภาค ยิ่งเพิ่มความกังวลว่า โลกอาจจะลืมตระหนักถึงอันตรายใหญ่หลวงที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด

แต่นิวเคลียร์ไม่ใช่วิกฤตเดียวของมนุษยชาติอีกต่อไป โดยเมื่อปี 2007 ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้เชี่ยวชาญนำประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเป็นหนึ่งในปัจจัยกำหนดเวลาบนหน้าปัดนาฬิกาวันสิ้นโลก ซึ่งปัญหาภาวะโลกร้อนทำให้ในปีนั้น เวลาของโลกหดสั้นลง จาก 7 นาที เหลือเพียง 5 นาที


ตลอดช่วงเวลา 76 ปีที่ผ่านมา นาฬิกาวันสิ้นโลกขยับเปลี่ยนไปมาไม่ต่ำกว่า 24 ครั้ง โดยครั้งที่โลกอยู่ห่างจากการทำลายล้างมากที่สุด คือ เมื่อปี 1991 ซึ่งมีเวลาเหลือมากถึง 17 นาที ส่วนสาเหตุเป็นเพราะสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตร่วมลงนามในสนธิสัญญาลดอาวุธเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งมีผลให้ทั้งสองประเทศต้องตัดลดอาวุธนิวเคลียร์ ผู้เชี่ยวชาญจึงประเมินว่าโลกน่าจะปลอดภัยขึ้น

ขณะที่ในปี 2020 กลายเป็นปีที่ช่องว่างนี้แคบลงมากที่สุด โดยเหลือไม่ถึง 2 นาที ก่อนที่จะถึงเที่ยงคืน เนื่องจากปัจจัยในเรื่องความเป็นไปได้ของการเกิดสงครามนิวเคลียร์และวิกฤตโลกร้อน โดยเฉพาะความล้มเหลวของรัฐบาลและสถาบันต่างๆ ในการจัดการกับภัยคุกคามเหล่านี้

นับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา นาฬิกาวันสิ้นโลกยังคงหยุดอยู่ที่เวลาเดิม คือ 100 วินาทีก่อนเที่ยงคืน แต่ในคืนนี้ตามเวลาในประเทศไทย กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจะมีการประกาศเวลาประจำปีนี้ ซึ่งหลายฝ่าย คาดว่าโลกน่าจะเข้าใกล้หายนะมากขึ้นกว่าเดิม


โดยนับตั้งแต่รัสเซียบุกโจมตียูเครน ความเสี่ยงของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนี่ยังไม่นับการเร่งพัฒนาและสั่งสมอาวุธของหลายประเทศ ความตึงเครียดระหว่างจีน-ไต้หวัน ความก้าวหน้าด้านอาวุธของเกาหลีเหนือ และภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกพื้นที่ของโลก

จริงๆ แล้ว ประเด็นการก่อการร้ายทางชีวภาพ เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และการเผยแพร่ข้อมูลแบบผิดๆ เป็นปัจจัยที่ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาด้วย ไม่ว่าปีนี้ เข็มจะอยู่ที่เลขอะไร สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่แถลงการณ์ของกลุ่มนี้ถูกแปลเป็นภาษารัสเซียและยูเครน

วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง