ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บทวิเคราะห์ : เบื้องหลังชนวนเหตุผู้นำตุรกี

ต่างประเทศ
24 ม.ค. 66
20:15
548
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : เบื้องหลังชนวนเหตุผู้นำตุรกี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ความหวังของสวีเดนในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโตกำลังเผชิญอุปสรรคสำคัญครั้งสำคัญ หลังจากการประท้วงในกรุงสตอกโฮล์มจุดชนวนความตึงเครียดครั้งใหม่ขึ้น แม้ว่าการประท้วงต่อต้านผู้นำตุรกีจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้สร้างความไม่พอใจอย่างมาก

สาเหตุเพราะไปแตะต้องเรื่องศาสนาซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อน นอกจากนั้น การประท้วงในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เพราะสวีเดนต้องการแรงหนุนจากตุรกีในการเข้าร่วมนาโต

อนาคตของสวีเดนในนาโตกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้ายหลังจากการประท้วงหน้าสถานทูตตุรกีในกรุงสตอกโฮล์มเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราสมุส ปาลูดาน นักการเมืองขวาจัดชาวเดนมาร์กเชื้อสายสวีเดน หัวหน้าพรรค “Hard Line” ในเดนมาร์ก จุดไฟเผาพระคัมภีร์อัลกุรอานต่อหน้าสื่อมวลชนหลายสำนัก ที่หน้าสถานทูตตุรกีในกรุงสตอกโฮล์มเมื่อช่วงสุดสัปดาห์

ความเคลื่อนไหวของนักการเมืองเดนมาร์กมีเป้าหมายเพื่อประท้วง ปธน.เรเซป ไทยิป เออร์ดวน ของตุรกี เนื่องจากผู้นำตุรกีพยายามใช้อิทธิพลครอบงำเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสวีเดน ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

ส่วนการประท้วงอีกจุดหนึ่งในกรุงสตอกโฮล์มเกิดขึ้นเพื่อแสดงพลังสนับสนุนชาวเคิร์ด และต่อต้านการเข้าร่วมนาโตของสวีเดน การเผาพระคัมภีร์อัลกุรอาน จุดชนวนประท้วงใหญ่ในตุรกีหลังจากมวลชนเดินขบวนประท้วงและเผาธงชาติสวีเดน รัฐบาลตุรกีออกมาประณามรัฐบาลสวีเดนในกรณีอนุญาตให้ผู้ประท้วงแสดงพฤติกรรมในเชิงดูหมิ่นศาสนาอิสลาม

นอกจากนี้ยังเรียกทูตสวีเดนประจำกรุงอังการาเข้าพบ และสั่งยกเลิกแผนการเยือนของรัฐมนตรีกลาโหมสวีเดนด้วย 

ความบาดหมางในความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศสะท้อนให้เห็นจากคำพูดในการแถลงข่าวของ ปธน.ตุรกี ในวันนี้ (24 ม.ค.2566)

การแสดงท่าทีแข็งกร้าวของผู้นำตุรกีเป็นการส่งสัญญาณว่าการสมัครเป็นสมาชิกนาโตของสวีเดนไม่ใช่เรื่องง่าย ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว สวีเดนและฟินแลนด์ 2 ประเทศนี้สมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโตเพื่อสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงหลังจากเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนขึ้น

แต่ว่ากฎบัตรนาโตกำหนดให้ประเทศผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ จะต้องได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากชาติสมาชิกทั้ง 30 ชาติ ตอนนี้ตุรกีและฮังการีเป็น 2 ประเทศที่ยังไม่ให้ความเห็นชอบ ในขณะที่รัฐสภาของชาติสมาชิกอื่นๆ ทยอยลงมติกันแล้ว

ผู้นำตุรกีมีจุดยืนคัดค้านการรับรองทั้ง 2 ประเทศเข้าเป็นสมาชิก เพราะเป็นแหล่งกบดานของกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด นอกจากนี้สวีเดนยังให้ที่พักพิงแก่ชาวเคิร์ดหลายหมื่นคนที่ลี้ภัยความรุนแรงจากความพยายามปราบปรามของรัฐบาลตุรกี

เพราะฉะนั้น ตุรกีสร้างเงื่อนไขให้ฟินแลนด์และสวีเดนส่งตัวนักรบชาวเคิร์ดและนักกิจกรรมทางการเมืองอย่างน้อย 33 คน กลับมาดำเนินคดีที่ตุรกี ไม่เช่นนั้นตุรกีจะใช้ “สิทธิ์ยับยั้ง” หรือ “veto” ขัดขวางไม่ให้ทั้งสองประเทศเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของนาโต

และตัวละครสำคัญคือ “บูเลนท์ เคเนส” นักข่าวชาวตุรกี หลังจากถูกกล่าวหาว่าพยายามก่อรัฐประหารโค่นอำนาจ ปธน.เออร์ดวน เมื่อปี 2016 ศาลสูงสุดสวีเดนขัดขวางการส่งตัว เคเนส กลับประเทศเพราะข้อกล่าวหาบางอย่างไม่ใช่อาชญากรรมในสวีเดน

ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับสวีเดนระหองระแหงมากขึ้นหลังจากการประท้วงของนักเคลื่อนไหวสนับสนุนชาวเคิร์ด ผู้ประท้วงได้นำหุ่นจำลองของผู้นำตุรกีแขวนห้อยหัวลงมาด้านหน้าศาลาว่าการกรุงสตอกโฮล์ม เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา

แน่นอนว่า การประท้วงสร้างความไม่พอใจให้ตุรกีเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นเรียกตัวทูตสวีเดนเข้าพบเพื่อให้ชี้แจงเหตุการณ์ทั้งหมด



ทั้ง 2 ประเทศมีประเด็นสร้างความไม่พอใจอยู่แล้ว แต่การเผาพระคัมภีร์อัลกุรอาน ยิ่งเติมเชื้อไฟความขัดแย้งและทำให้การเข้าเป็นสมาชิกนาโตของสวีเดนซับซ้อนมากขึ้น

วิเคราะห์โดย พงศธัช สุขพงษ์

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง