กรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบเจ้าอาวาสวัดชลประทาน รังสฤษดิ์ ที่มีการรื้อทุบทำลายกุฏิพระไปแล้วกว่า 11 หลังจากที่กำหนด 71 หลัง
วันนี้ (27 ม.ค.2566) ไทยพีบีเอส ลงพื้นที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ พบกับลูกวัดที่บวชมานานกว่า 30 ปี บอกว่า ขณะนี้พระลูกวัดที่จำพระพรรษาอยู่ในกุฏิที่ถูกรื้อถอนได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะเป็นการรื้อกะทันหันช่วงกลางพรรษา ซึ่งพระกำลังจำวัดอยู่
ขณะนี้มีการรื้อทุบไปแล้ว 11 หลัง และจะทำการรื้อถอนอีก 60 หลัง อยากให้ทางผู้ใหญ่หรือทางเจ้าอาวาสไตร่ตรองและพิจารณาให้ถี่ถ้วนอีกครั้ง
ขณะเดียวกันได้พาไปยังจุด ที่มีการรื้อถอนกุฏิทั้ง 11 หลัง พบว่ากลายเป็นพื้นที่โล่งเตียน โดยเฉพาะศาลาจิตพิพิธ ซึ่งสร้างจากจิตศรัทธาหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ อดีตเจ้าอาวาส ที่ถูกทุบทิ้งเป็นหลังที่ 11 แล้วสร้างความหดหู่ให้กับญาติโยมคนเก่าคนแก่ ที่เคยมาทำบุญตั้งแต่สมัยหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุยังมีชีวิตอยู่
"ศรีสุวรรณ" บุกร้อง ป.ป.ช.สอบเจ้าอาวาสวัดชลประทานฯ
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ องค์ปัจจุบัน อ้างว่าได้ร่วมกับหน่วยงานของรัฐบางหน่วย จัดทำโครงการ 5 ส.เพื่อปรับปรุงสถานที่เขต กัมมัฏฐาน (บริเวณหลังวัด) ซึ่งมีกุฏิที่พักอาศัยของสงฆ์จำนวนกว่า 70 หลัง
แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 5 ส.ค.65 ได้สั่งการให้มีการนำเครื่องจักรขนาดใหญ่ และคนงานเข้ามาทยอยรื้อทุบทำลายศาลาธรรม และเสนาสนะ หรือกุฏิสงฆ์ในพื้นที่ดังกล่าวไปแล้วกว่า 11 หลัง และสั่งให้พระที่จำพรรษาอยู่ในกุฏิแต่ละหลัง (ช่วงเข้าพรรษาระหว่างวันที่ 14 ก.ค.-10 ต.ค.65) ตั้งแต่กลางพรรษาดังกล่าว ทำให้พระในวัดดังกล่าวจำนวนมากเดือดร้อน
ที่สำคัญ มีการรื้อทำลายต้นพระศรีมหาโพธิ์ พร้อมป้ายแสดงรายละเอียด ที่เป็นต้นกล้าจากพุทธคยาเจดีย์ สาธารณรัฐอินเดีย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งที่ดำรงอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงพระราชทานให้วัดมาปลูกในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
การรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างภายในวัดวาอารามนั้น แม้จะได้รับการยกเว้นตามกฎกระทรวง แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเพื่อควบคุมการก่อสร้างไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้นการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนและเคลื่อนย้ายวัดวาอารามหรืออาคารต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อการศาสนา จะต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยต้องมีวิศวกรเป็นผู้รับผิดชอบในการคำนวณออกแบบและควบคุมงาน เสียก่อน
รวมทั้งมีมติของมหาเถรสมาคมที่ 331/2555 ให้ผู้ดำเนินการเกี่ยวกับอาคารโบราณสถาน วัดวาอาราม หรืออาคารต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อการศาสนา ต้องส่งแผนผังบริเวณ แบบแปลนการรื้อถอนและรายการประกอบแบบแปลนที่ถูกต้อง และเป็นไปตามกฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 ก่อนไม่น้อยกว่า 30 วันด้วย