ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บทวิเคราะห์ : กกต.ไม่พร้อมขอเวลา 30-45 วันเตรียมเลือกตั้ง

การเมือง
1 ก.พ. 66
16:02
126
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : กกต.ไม่พร้อมขอเวลา 30-45 วันเตรียมเลือกตั้ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หลังจากนายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. เข้าหารือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล เปิดไทม์ไลน์นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง ส.ส. ขอเวลาอย่างน้อย 30-45 วัน สำหรับแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ จากเดิม 350 เขตในปี 2562 เป็น 400 เขตเลือกตั้ง ประมาณ 25-30 วัน และอีก 20 วัน สำหรับการทำไพรมารีโหวต ของพรรคการเมือง

หากเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่กกต.ระบุ เท่ากับว่า “การยุบสภา” เตรียมนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง จะไม่มีเกิดขึ้นภายในสมัยประชุมสภาสามัญ สมัยที่ 2 ของปี 2565 หรือภายในเดือน ก.พ.66 และปกติแล้ว การปิดสมัยประชุมสภาสมัยที่ 2 ของปี มักจะเป็นวันที่ 28 ก.พ.

นอกจากนี้ ยังหมายถึงช่วงเวลาการยุบสภาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ภายหลังสิ้นเดือน ก.พ.2566 หรืออาจหลังวันที่ 15-16 ก.พ.ที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ก่อนหน้านี้แล้ว

แม้โดยข้อเท็จจริง การประชุมสภาผู้แทนฯก็ดี ประชุมร่วมสองสภาก็ดี จะเกิดเหตุสภาล่มซ้ำซาก เนื่องจากสมาชิกผู้ทรงเกียรติ หันไปให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่หาเสียง และเจรจาโยกย้ายหาพรรคการเมืองใหม่ ที่เสนอออปชั่น หรือเงื่อนไขที่ดีกว่าให้ แทนการทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติในสภา

การยื้อเวลายุบสภา โดยอ้างว่าเป็นข้อเสนอของกกต. ไม่อาจปฏิเสธการถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ เช่น กรณีนายวิษณุพยายามแจกแจงว่า ไม่ใช่เรื่องยื้อหรือดึงเวลา แต่ในเชิงทางการเมือง ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายรัฐบาล

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เปิดตัว พล.อ.ประยุทธ์ ในห้วงเวลาที่ถูกมองว่าล่าช้าเกินไป มีโอกาสจะสร้างแรงดึงดูดใจ ส.ส.ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ หรือเปลี่ยนใจ ย้ายเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติได้ ทำให้มีโอกาสจะได้ส.ส.เพิ่มขึ้นอีกในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ขณะที่ กกต. ใช่ว่าจะรอดตัว เพราะหลายคนมองต่างว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ความจริงสามารถทำเป็นตุ๊กตาล่วงหน้าได้ในระดับหนึ่ง ในเมื่อกกต.รู้อยู่แล้วว่า จะมีเขตเลือกตั้งเพิ่มเป็น 400 เขต

จึงเป็นเรื่องที่ควรต้องระมัดระวังตั้งแต่ต้น ป้องกันข้อครหาว่าเป็นการซูเอี๋ย เอื้อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่

วิเคราะห์โดย : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง