องค์การอนามัยโลกระบุว่า เมื่อปี 2021 มีน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ารสชาติต่าง ๆ กว่า 16,000 ชนิด หลายชนิดมีการตบแต่งกลิ่นสีและรสชาติ เพื่อดึงดูดและหลอกล่อให้เยาวชนทดลองสูบ โดยใช้สีสัน ตัวการ์ตูน รสใหม่ชวนสูดดม หวังเพิ่มยอดจำหน่าย โดยไม่คำนึงว่าจะเกิดพิษสะสมและเป็นอันตรายต่อร่างกายของเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
“น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าขณะนี้น่าจะอยู่ที่ 20,000 ชนิด ผู้ผลิตได้เปลี่ยนสี แต่งกลิ่นเพื่อให้เยาวชนหรือนักเสพหน้าใหม่รู้สึกว่า ไม่อันตราย เพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่มีควัน แต่เขารู้ไม่ว่า ในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารกว่า 2,000 ชนิด ซึ่งเราไม่เคยรู้จักและไม่พบในบุหรี่มวนมาก่อน นอกจากนิโคติน ตะกั่ว สารก่อมะเร็ง และเป็นอันตรายต่อระบบสมอง” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าว
จากงานวิจัยล่าสุดพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงต่อภาวะการเกิดโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยรุ่น
ในต่างประเทศการสูบบุหรี่ไฟฟ้า พบว่าแพร่ระบาดหนักในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาอเมริกัน โดยปี 2011 มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา สูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 360,000 คน และในปี 2019 เพิ่มขึ้น 5,380,000 คน หรือ 15 เท่า จำนวนนี้ 52 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ชนิดใดมาก่อน
สถิติขององค์การอนามันโลกพบว่า ตัวเลขของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเยาวชนไทยช่วงอายุระหว่าง 13-15 ปี ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจาก 3.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2558 เพิ่มเป็น 8.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2564
ขณะที่ ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของคนไทยอายุ 15 ปี เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากจำนวน 49,180 คน หรือ 0.09 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2557 ขยับมาที่ 11,096 คน หรือ 0.02 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2560 และในปี 2564 ที่ผ่านมา ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 78,072 คนหรือ 0.14 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า ในฐานะนักวิจัยพบว่า สารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบสมอง หลังจากการสูบในช่วง 10 วินาทีแรก ซึ่งสารดังกล่าวจะไปกระตุ้นเซลล์สมองบางส่วนที่หลอกให้ผู้สูบมีความสุขในช่วงนั้น ๆ สมองจะจดจำสารกระตุ้นประเภทนี้ไว้และเมื่อถูกกระตุ้นซ้ำ ๆ ต่อเนื่องจึงทำให้เลิกสูบไม่ได้
หากผู้สูบอยู่ในช่วงวัยรุ่น อายุตั้งแต่ 13-15 ปี ใช้ติดต่อนาน ๆ ในขณะที่ระบบสมองเจริญเติบโตและสร้างเซลล์ประสาทไปเรื่อย ๆ จนกว่าร่างกายจะหยุดการเจริญเติบโตในวัย 25 ปี
“หากสมองของเด็กวัยรุ่นสะสมสารนิโคตินระยะยาว จะทำให้เซลล์สมองถูกทำลายได้มาก โดยเฉพาะต่อระบบความจำ และระบบทางเดินหายใจ เช่น ทำให้หายใจไม่ออก ไอ จาม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะมึนงง สับสน ความดันโลหิตต่ำ
ส่วนผลกระทบระยะยาว เยื่อหุ้มฟันอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ ต้อกระจก ซีด จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกตินอนไม่หลับ เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ชัก หัวใจล้มเหลว รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพจิต คือ ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า เนื่องจากงานวิจัยของเมืองไทยพบว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคซึมเศร้าในกลุ่มวัยรุ่น” อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าว
การรู้ไม่เท่าทันพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนและกลุ่มวัยรุ่น เพราะไม่ได้ศึกษาผลเสียที่จะตามมา อีกทั้งยังตกเป็นกลุ่ม เป้าหมายสำคัญทางการตลาดของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า แหล่งจำหน่ายการทำให้หาซื้อได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อทางออนไลน์ ในห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด หรือร้านค้าทั่วไปในราคาที่ไม่แพงมากนัก
ส่งผลให้วัยรุ่นส่วนใหญ่ที่ไม่เคยสูบ แต่อยากทดลองเนื่องจากเห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีลักษณะเหมือนของเล่น เสพแล้วไม่มีควัน ปลอดภัย มีรสชาติกลิ่นผลไม้ น้ำอัดลม นมเปรี้ยว นมอัดเม็ด ฯลฯ สารพัดกลิ่นที่หลอกล่อ จึงไม่ตระหนักถึงพิษร้ายที่ซ่อนอยู่ในสารนิโคติน
นอกจากสารดังกล่าวแล้ว ยังพบว่าในบุหรี่ไฟฟ้ายังมี สารก่อมะเร็ง สารโลหะหนัก ตะกั่ว ทองแดง ฯลฯ และสารอินทรีย์ระเหยง่าย รวมทั้งฝุ่นขนาดเล็กกว่าพีเอ็ม 2.5 มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่า พบสารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่เคยพบในบุหรี่ธรรมดามากถึง 2,000 ชนิด ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
แม้ว่าไทยจะมีกฎหมายที่ห้ามไม่ให้มีการนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าถึง 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 เรื่องห้ามผลิตนำเข้าเพื่อขายหรือเพื่อแจกจ่ายที่มีรูปลักษณะที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตยา หรือนำ หรือสั่งเข้ามาในราขอาณาจักรซึ่งยาแผนปัจจุบัน เว้นแต่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังไม่ได้เสียภาษีโดยถูกต้องงเข้ามาในราชอาณาจักรสยาม ความผิดครึ่งหนึ่งจะมีโทษปรับเป็น 4 เท่าของราคาของ ซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยกัน หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่เนื่องจากไม่ได้มีการจำกัดวัยของผู้ซื้อ และกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ก็ไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดและจริงจัง ต่างจากสิงคโปร์ และออสเตรเลีย จึงจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลฯ ต้องให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะพิษภัยและอันตรายที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว โดยรณรงค์ให้ครอบครัวและโรงเรียนเข้ามามีบทบาทในการดูแล
“เชื่อว่ายังมีเด็กวัยรุ่นจำนวนมากที่ยังไม่รู้ว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายอย่างไร บริษัทที่ผลิตบุหรี่เหล่านี้มักจะอ้างว่า เหตุที่ต้องทำบุหรี่ไฟฟ้า เพราะต้องการให้ผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ทั่วไปเลิกเสพ แต่ความเป็นจริงคือ เขาออกบุหรี่ไฟฟ้ามีกว่า 20,000 หมื่นรสชาติ ล้วนมีแต่รสที่เด็กชอบ เช่น ขนม ผลไม้ ตัวการ์ตูนดังๆ อยู่ในตัวรสชาติ ซึ่งผู้ใหญ่เขาไม่ได้ใช้ แต่ถ้าเด็กติดบุหรี่ฯ พวกนี้ก็จะเป็นลูกค้าเขาระยะยาวเลย
ดังนั้นทางออกที่ดีในขณะนี้ คือยังต้องคงกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ และให้ความรู้กับเด็ก ๆ เพื่อรู้เท่าทัน รวมทั้งผู้ปกครองและครูด้วยเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเข้ามาอยู่ในวงจรบุหรี่ไฟฟ้า” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว
บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 5-9 เท่า เมื่อเทียบกับบุหรี่ธรรมดา จัดเป็นกลุ่มสารเสพติดชนิดใหม่ที่มีสารละลายโปรปีลีน ไกลคอล( propylene glycol ) ปัจจุบันมีบุหรี่ไฟฟ้าวางขายในตลาดและโลกออนไลน์มากกว่า 300 ยี่ห้อ และไม่ได้มีการแสดงป้ายปริมาณสารละลายหรือนิโคติน ผลวิจัยในต่างประเทศพบว่า นักสูบหน้าใหม่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง