อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กกล้าในปัจจุบันนั้นก่อให้เกิดแก๊สครัวเรือนมากกว่า 9% จากอุตสาหกรรมอื่นทั้งหมดบนโลก โดยเฉพาะแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากกรรมวิธีที่ต้องใช้วัสดุที่มีส่วนประกอบของคาร์บอนที่เรียกว่า Coke เข้าไปในเตาหลอมเหล็ก เพื่อเร่งอุณหภูมิให้พุ่งสูงขึ้นถึง 1,300 องศาเซลเซียส จนแร่เหล็กธรรมดาที่ปนเปื้อนส่วนประกอบอื่น ๆ นั้นหลอมละลายลง และกลายเป็นเหล็กกล้าบริสุทธิ์ในที่สุด ซึ่งมีการใช้กระบวนการนี้อย่างแพร่หลายทั่วโลก
ล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม (University of Birmingham) ประเทศอังกฤษ ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับระบบเตาหลอมแบบใหม่ ที่สามารถเปลี่ยนแก๊ส “คาร์บอนไดออกไซด์” ให้กลายเป็น “คาร์บอนมอนอกไซด์” ซึ่งสามารถนำแก๊สนี้วนกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการหลอมเหล็กได้ โดยไม่ต้องปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในทันทีแบบกรรมวิธีดั้งเดิม โดยทางทีมนักวิจัยคาดว่าวิธีการใหม่นี้สามารถลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 90%
ทั้งนี้ หากว่ากันตามนโยบายของรัฐบาลอังกฤษในการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมถลุงเหล็กแล้ว ทางรัฐบาลมีความต้องการให้เปลี่ยนไปใช้เตาหลอมจากพลังงานไฟฟ้ามากกว่า ซึ่งจะไม่ปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกใด ๆ ออกมา 100% แต่ทว่าเตาไฟฟ้านั้นก็กลับมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 1,000 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ต่อ 1 เตา ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ภาคเอกชนจะสามารถแบกรับกับค่าใช้จ่ายและจัดซื้ออุปกรณ์มาได้ทันตามเส้นตายจากนโยบายของภาครัฐบาล
ดังนั้นระบบเตาหลอมแบบปิดที่ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมคิดค้นขึ้นมา จึงอาจเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการเป็นเทคโนโลยีรอยต่อระหว่างเตาหลอมดั้งเดิมกับเตาหลอมไฟฟ้า ซึ่งสามารถนำไปติดตั้งใช้งานได้เร็วกว่า ขณะที่ยังมีราคาถูกอีกด้วย และเมื่อทางบริษัทผลิตเหล็กกล้ามีความพร้อมทางด้านการเงินแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนเป็นเตาไฟฟ้าในภายหลังได้
นอกจากนี้ งานวิจัยจากทางมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมยังเปิดเผยว่า นวัตกรรมเตาหลอมเหล็กของตนสามารถช่วยอุตสาหกรรมผลิตเหล็กกล้าประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 1,280 ล้านปอนด์ ภายในระยะเวลา 5 ปีอีกด้วย เนื่องจากรูปแบบเตาที่ช่วยให้ใช้ Coke น้อยลงได้
ที่มาข้อมูล: University of Birmingham
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech