กว่าจะดูแลจนได้ทุเรียนสักลูกมาขาย ก็เสียทั้งแรงและต้นทุนไปเยอะ แต่ดันถูกมิจฉาชีพเอาทั้งรูป และชื่อเสียงไปใช้เปิดเพจเฟซบุ๊กหลอกให้คนซื้อทุเรียน ทำให้ "ชาคริต แย้มนาม" ทนไม่ไหว
แม้จะแจ้งความไปแล้วเมื่อปลายปีก่อน แต่มิจฉาชีพก็ไม่กลัว แถมยังเปิดเพจเพิ่มมากขึ้นอีก พอตำรวจลองสืบสาวดู พบว่าทำกันเป็นขบวนการ มีการใช้บัญชีม้าหรือบัญชีที่เปิดเพื่อใช้กระทำความผิดโดยเฉพาะจำนวนหลายสิบบัญชี แถมตัวเพจเฟซบุ๊ก ของมิจฉาชีพยังมีการซื้อโฆษณา ยิงแอดโฆษณาโดยจะเลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นคนอายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะเป็นช่วงอายุที่ตัดสินใจอะไรไว และเล่นโซเชียลมีเดียไม่เก่งเท่าวัยรุ่น
ซึ่ง เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2566 ชาคริตอัปเดตว่า ตอนนี้ตามจับคนร้ายได้จำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถสาวถึงต้นตอของขบวนการได้ นอกจากนั้นก็มีติดต่อไปทางศูนย์เฟซบุ๊กที่สิงคโปร์ เพื่อให้ปิด IP Address ของมิจฉาชีพไปแล้ว แต่ตามปิดเท่าไหร่ก็ไม่หมด เลยวอนผู้เสียหายทุกคนให้ไปแจ้งความไว้ เพราะยิ่งมีจำนวนผู้เสียหายมากเท่าไหร่ ตำรวจก็ยิ่งทำงานได้ง่ายและไวมากขึ้น