ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เร่งติดตาม "สีดอ" งวงฉีก ยันแผลเก่า-ไม่ติดเชื้อ

Logo Thai PBS
เร่งติดตาม "สีดอ" งวงฉีก ยันแผลเก่า-ไม่ติดเชื้อ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน เผยภาพช้างป่างวงฉีก เป็นตัวเดียวกับที่เคยรักษาเมื่อ 5 ปีก่อน พบแผลดีขึ้น ไม่ติดเชื้อ แต่มีอาการเดินขัด ๆ และชนต้นไม้ คาดมีปัญหาทางสายตา ขณะนี้ทีมเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ เร่งติดตามตัว

วันนี้ (6 ก.พ.2566) น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์กรณีโซเชียลแชร์ภาพช้างป่ามีแผลบริเวณงวงอยู่ในพื้นที่ ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ว่า วันนี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ ได้ติดตามช้างตัวนี้ หรือสีดอฉีก แต่ยังไม่พบตัว เพื่อประสานทีมสัตวแพทย์เข้าตรวจสุขภาพและวางแผนต่อไป หลังได้รับแจ้งเมื่อวานนี้ (5 ก.พ.) โดยเป็นช้างตัวที่ 10 ที่อยู่ในสารบบของดงใหญ่ อายุประมาณ 50 ปี

น.สพ.ภัทรพล กล่าวว่า ทีมสัตวแพทย์เคยช่วยเหลือสีดอตัวนี้มาแล้วนานกว่า 5 ปี โดยครั้งแรกพบภาพจากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา ขณะนั้นได้ติดตามพบว่ามีบาดแผลฉกรรจ์ มีกลิ่นเน่าเหม็น ช้างป่าตัวนี้จึงอยู่ไม่ไกลแหล่งน้ำ เพราะต้องลงแช่น้ำ กินน้ำ และใช้น้ำทำความสะอาดบาดแผล ไล่แมลง เป็นสัญชาตญาณของการเอาตัวรอด คาดว่าอาการบาดเจ็บเกิดจากการต่อสู้ของช้างป่าด้วยกัน และสีดอฉีกถูกงาแทงบาดเจ็บ ซึ่งการที่งวงช้างขยับตลอดเวลาส่งผลให้บาดแผลฉีกขาดได้ง่าย และแผลขยายขนาดขึ้น ขณะนั้นรักษาโดยเน้นควบคุมภาวะติดเชื้อ ถือเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสม เพราะช้างรอดและบาดแผลไม่ติดเชื้อ

สิ่งที่บอกได้ คือ ช้างตัวนี้เอาตัวรอดในธรรมชาติได้ จากเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่ได้ติดตามช่วยเหลือ ภาพที่เห็นบาดแผลเป็นสีชมพู ดีใจที่ไม่ติดเชื้อ เพราะตอนแรกที่เจอแผลติดเชื้อ เหวอะหวะ

หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กล่าวว่า จากการดูคลิปพบว่า ขาขวาเดินแข็ง ๆ ขัด ๆ ต้องตรวจสอบว่ามีบาดแผลหรือไม่ อีกทั้งพบว่าช้างเดินชนต้นไม้ อาจด้วยความชรา หรือดวงตาติดเชื้อ ส่งผลต่อการมอง ทำให้หวาดระแวงต่อเสียงมากขึ้น และตอบสนองสิ่งกระตุ้นค่อนข้างเร็ว หรืออาจวิ่งไล่คนได้ จึงขอความร่วมมือประชาชนอย่าติดตามช้างเข้าไปในป่า อาจเกิดอันตรายได้ โดยขอให้เฝ้าแหล่งน้ำ หรือพื้นที่เกษตรกรรม หากพบช้างให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที อย่าเข้าใกล้ หรือไล่ช้าง

เขาออกมาใกล้แหล่งน้ำ เพราะงวงรั่ว กินน้ำได้ลำบาก ถ้าจะช่วยเจ้าหน้าที่ก็ขอให้เฝ้าแหล่งน้ำ อย่าติดตามไปในป่า เพราะช้างตาไม่ดี อาจวิ่งเตลิดมาได้

สำหรับแผลของช้างตัวดังกล่าวเป็นแผลเดิม เพราะงวงช้างมีกล้ามเนื้อ 40 กว่ามัด งวงที่ขยับตลอดเวลาไม่มีทางประสานกันเองได้ ไม่แปลกที่คนภายนอกจะมองว่าบาดแผลรุนแรง เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน แต่จากการติดตามและดูแลมาตลอด 5 ปี ยืนยันว่าแผลดีขึ้น พร้อมขอบคุณทุกความห่วงใยที่ส่งถึงช้างตัวนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง