ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มื้ออาหารแห่งความใส่ใจ ของชาวญี่ปุ่นที่หลงรักเชียงใหม่แม้ไม่เคยรู้จักเลย

ไลฟ์สไตล์
13 ก.พ. 66
12:46
2,539
Logo Thai PBS
มื้ออาหารแห่งความใส่ใจ ของชาวญี่ปุ่นที่หลงรักเชียงใหม่แม้ไม่เคยรู้จักเลย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ถ้าพูดถึง "ญี่ปุ่น" หลายๆ คนคงจะนึกถึงภูเขาไฟฟูจิ ชุดกิโมโน ซามูไร อนิเมะ รถไฟชิงกังเซ็ง และถ้าพูดถึง "คนญี่ปุ่น" ก็คงจะนึกถึง "ระเบียบ" "ตรงเวลา" "ความเป๊ะ" และ "ความมุ้งมิ้ง ตะมุตะมิ หรือ คิขุอาโนเนะ" ตามภาษาไทยที่ชอบเรียกกัน

おもてなし (โอโมเตะนาชิ) จิตวิญญาณแห่งความเอื้ออาทร

คนญี่ปุ่นชอบทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ผู้คนที่ได้มาเห็นจะรู้สึกใจฟู เห็นแล้วก็ต้องเผลอยิ้มมุมปาก ความคิดจะเริ่มผุดเข้ามาในหัวทีละเล็กละน้อยเหมือนกันว่า "เค้าก็ช่างคิดเนาะ"

สิ่งเหล่านี้ คนญี่ปุ่นเรียก "おもてなし" (โอโมเตะนาชิ) หรือ "ความเอาใจใส่ด้วยหัวใจ" ที่ไม่ว่าผู้รับจะเป็นใคร แต่เมื่อผู้ให้คือคนญี่ปุ่น รายละเอียดเล็กๆ ที่ทำด้วยใจในทุกๆ การบริการ จะเกิดขึ้นและสร้างความประทับใจแก่คนทั่วไปได้ดีเสมอ

เช่นเดียวกับรอยยิ้มและความอิ่มท้องแบบแน่นๆ ที่ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ได้รับจากครอบครัว"มากิโนะ" 2 สามีภรรยา เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นที่ผสมผสานเอามื้ออาหารญี่ปุ่นของพระนิกายเซ็นเข้ากับวัตถุดิบอาหารของไทย

คุยจนเมื่อยมือและหัวเราะจนเมื่อยกราม

ในช่วงบ่ายคล้อยวันหนึ่ง ที่ร้าน Aeeen (อาอีน) ร้านตั้งอยู่ในชุมชนวัดร่ำเปิง หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2 มากิโนะ เตรียมตัวต้อนรับกับทีมงานเป็นอย่างดี

ก้าวแรกที่เข้าไป เราพบกับแก้วชา 3 ใบที่วางเรียงไว้ให้ พร้อมกับคำอธิบายว่า

ปกติแล้วคนญี่ปุ่นชอบดื่มชาร้อน แต่เมื่ออยู่ที่เมืองไทยที่อากาศร้อน และคนไทยก็ไม่นิยมชาร้อนๆ ด้วยแล้ว ทางร้านจึงเตรียมเป็น ชาญี่ปุ่นเย็น เอาไว้ให้

"มากิโนะ เคโกะ" ผู้เป็นภรรยาและคนตั้งชื่อร้านบอกกับทีมข่าว

จากนั้น "มากิโนะ ยูกิ" ชายเจ้าของร้านผู้ทำหน้าที่เตรียมวัตถุดิบต่างๆ ที่ต้องใช้ในการทำอาหาร โดยเฉพาะ "เต้าหู้" ที่เป็นของเด็ดของร้าน ก็โชว์การโม่ถั่วเหลืองด้วยเครื่องโม่หิน จากนั้นก็นำถั่วเหลืองใส่กระด้งแบบไทย ไปยืนฝัดเปลือกถั่วดูแล้วทำให้นึกถึงภาพผู้สูงอายุตามชนบทที่เห็นมาแต่เด็กจัง

ถั่วเหลืองของไทยกับญี่ปุ่นมีความแตกต่างกันเรื่องของขนาดเมล็ด อายุของถั่วที่ยาวนานไม่เหมือนกัน แน่นอนล่ะเรื่องรสชาติก็อาจจะคลาดเคลื่อนจากเต้าหู้ที่ทำจากถั่วเหลืองญี่ปุ่นไปบ้าง แต่ก็พยายามทุกวันที่จะทำให้รสชาติใกล้เคียงใหม่มากที่สุด

มื้ออาหารสู่สมดุลร่างกาย

อันที่จริง ทั้งสองเป็นคนไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งคู่ จะเรียกว่า กินเจ หรือ กินมัง (มังสวิรัต) ก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว เคโกะซังเล่าย้อนถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอหันหลังให้เนื้อสัตว์ว่า ด้วยความที่เป็นคนแพ้อาหารหลายอย่าง และสมัยวัยรุ่น เธอทำงานปั่นจักรยานส่งข้าวกล่องตามบ้านที่เกียวโต ตอนนั้นเธอเริ่มทำอาหารสุขภาพ ไม่ใช้เนื้อสัตว์ ปรุงอาหารทุกอย่างด้วยผัก พืช ผลไม้ ให้มีครบ 5 สี เหมือนที่พระนิกายเซ็นกิน

แต่ก็ไม่อยากให้ข้าวกล่องที่ส่งดูจืดชืดหรือน่าเบื่อ เธอจึงค่อยๆ ดัดแปลงเมนูต่างๆ ในน่ากินอยู่เสมอ จนตั้งชื่อใหม่ให้กับผลงานอาหารที่ตนเองและสามีรังสรรค์ขึ้นมาว่า "Neo Shojin Ryori" (นีโอ โชจิน เรียวริ) หรืออาหารสไตล์พระนิกายเซ็นยุคใหม่

จากนั้น เหตุการณ์ที่อย่าว่าแต่ครอบครัวมากิโนะไม่คาดคิดเลย ทั้งโลกก็ไม่คาดคิดเหมือนกัน เมื่อญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.2011

และผลกระทบที่น่ากลัวกว่าภัยธรรมชาติคือ การระเบิดของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่เมืองโอคุมะ จ.ฟุกุชิมะ มีรายงานว่ามีการระเบิดของสารเคมีหลายครั้ง สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง สารกัมมันตรังสีเริ่มรั่วไหลออกสู่บรรยากาศและมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ต้องมีการอพยพผู้คน และขยายเขตพื้นที่ห้ามเข้าเพิ่มเติมอีก

เคโกะซังเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าที่จริงจังและแววตาที่เห็นได้ชัดถึงความกังวล แม้ในขณะนั้นตัวเธอและครอบครัวจะอยู่ที่โอซากา และรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวระดับ 9 เธอบอกว่าเธอยังโชคดีที่ไม่ต้องเผชิญกับสึนามิ แต่สารกัมมันตรังสีที่ลอยจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นั้น เธอไม่อาจคาดเดาได้เลยว่า มันจะลอยมาถึงบ้านเกิดของเธอหรือไม่ และเธอจะสามารถจัดการกับสิ่งที่เธอมองไม่เห็นได้ยังไง

เลือกที่จะ "ย้าย" 

ยูกิซังเสริมข้อมูลในการย้ายที่อยู่ครั้งใหญ่ของครอบครัวว่า ตัวเขาเองเมื่อ 20 กว่าปีก่อนเคยมา "เชียงใหม่" อยู่ครั้งหนึ่ง เป็นเมืองที่น่าอยู่ เรียบง่าย ผู้คนใจดี และที่จำได้ไม่ลืมเลยคือการได้ขี่ช้าง (ที่ญี่ปุ่น ไม่มีช้างที่เลี้ยงตามธรรมชาติ และมีไม่กี่เชือกอยู่แต่ในสวนสัตว์เท่านั้น) ส่วนเคโกะซัง "ไม่เคยมาเชียงใหม่เลย" 

เธอบอกว่ากรุงเทพฯ ดูแล้วคงวุ่นวายเหมือนโตเกียว แต่เชียงใหม่ในจินตนาการคงไม่ใช่ น่าจะสงบ เรียบๆ เหมือนเกียวโต

จากสถานการณ์ที่ดูย่ำแย่ของญี่ปุ่นในครั้งนั้น มาจนถึงวันนี้ก็ครบ 10 ปีแล้วที่ครอบครัวมากิโนะย้ายถิ่นฐานมาเชียงใหม่ จากคนที่ไม่เคยรู้จักเลยว่าเชียงใหม่หน้าตาเป็นยังไง ภาษาไทยสักคำก็พูดไม่ได้

แต่จนถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเชียงใหม่เท่านั้น มุมมองของครอบครัวมากิโนะที่มองเชียงใหม่ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน

คำพูดที่ชอบพูดมากที่สุดคือ "คะป๋ง" (ครับผม) ยูกิซังผู้เป็นสามี พยายามพูดด้วยเสียงที่อยากอวดสกิลภาษาไทยตัวเองแต่ก็เจือด้วยสายตาที่เขินอาย

ส่วนเคโกะซัง บอกว่าเธอชอบคำว่า "ทะมะชาด" (ธรรมชาติ) และเธอก็ยอมรับด้วยว่า คำพูดเธอก็ไม่ได้ทะมะชาดเลยสักนิด แต่ก็พยายามเรียนรู้ภาษาไทยมาโดยตลอด เพราะอยากสื่อสารความในใจด้วยภาษาของที่อยู่ใหม่ของเธอเอง

เมืองที่เปลี่ยนไป ถนนที่เปลี่ยนไป รถยนต์มีมากขึ้น ถึงอะไรหลายอย่างจะดูพัฒนาไปตามกาลเวลา แต่เชียงใหม่ก็ยังมีเสน่ห์ในตัวเอง ผู้คนที่น่ารัก ใจดี พร้อมให้ความช่วยเหลือ "ช่วยแบบไม่คิดเงินด้วยนะ" เคโกะซังย้ำประโยคนี้พร้อมรอยยิ้มที่ชื่นชม

ไม่ใช่แค่สีหน้าท่าทางแห่งความสุขที่ได้แบ่งปันมุมเล็กๆ ในชีวิต 10 ปีที่อยู่เชียงใหม่ของมากิโนะทั้ง 2 ให้กับทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์เท่านั้น แต่ยังเป็นพลังงานดีๆ ที่ทำให้ทุกคนในวงสัมภาษณ์มีรอยยิ้ม และชื่นชมกับมุมมองที่เปลี่ยนไปของทั้งคู่เช่นกัน

มื้ออาหารแห่งความสมดุล คนกินดีต่อร่างกาย คนทำให้ดีต่อใจ

ได้เวลาปิดร้านแล้ว และก็จบบทสัมภาษณ์พอดี แต่เคโกะซังบอกว่า รบกวนช่วยอยู่อีกสักครู่จะได้ไหม ช่วยกินอาหารสไตล์พระนิกายเซ็นยุคใหม่ ของที่ร้านหน่อย พร้อมกับให้พนักงานที่เป็นคนไทยที่ร้าน ยกมาเสิร์ฟและอธิบายรายละเอียดต่างๆ ของอาหาร

เหมือนเวลาที่เชฟตามร้านอาหารใหญ่ๆ เดินออกมาอธิบายที่มาที่ไปของวัถตุดิบชั้นเลิศที่นำมารังสรรค์เมนูอาหารแบบนั้นก็ไม่ผิดเพี้ยนเลย

เชื่อว่าถ้า เชฟใหญ่ตัวจริงของร้านได้เป็นคนมาอธิบายเอง ก็คงจะสร้างความประทับใจให้ทั้ง 2 ฝ่ายไม่น้อย เพียงแต่ตอนนี้เชฟใหญ่ขอฝึกพูดภาษาไทยให้ทะมะชาดกว่านี้อีกนิดน่าจะดีกว่า

พนักงานในร้านยกจานอาหาร 2 จานมาวางให้ และบอกว่าต้องวางจานมุมแบบนี้ เพราะจะพอดีกับสายตาของลูกค้า เหมือนเวลาเข้าห้างสรรพสินค้า ชั้นวางสินค้าที่อยู่ระดับสายตาคน จะมีราคาค่าเช่าที่ที่แพงกว่าชั้นบนหรือชั้นล่างสายตาคน เพราะมนุษย์จะมองสิ่งที่พอดีกับสายตาก่อนเป็นอันดับแรก

ส่วนเมนูอาหารมีอยู่ 5 เมนูที่หน้าตาไม่เหมือนกัน วางเรียงกันใน 1 จาน แต่รายละเอียดปลีกย่อยของทุกชิ้นต้องพูดว่า สุดยอด! ให้กับแนวความคิดในการรังสรรค์

เมนูทั้งหมดทำมาจากเต้าหู้ ผัก และซอสสูตรพิเศษของทางร้าน เคโกะซังพยายามอธิบายว่า ในทุกๆ วันที่เปิดร้าน เธอจะคิดเมนูอาหารที่แทบจะไม่ซ้ำกันเลย เพราะไม่อยากให้ลูกค้าต้องกินอาหารที่ไร้เนื้อสัตว์แบบไม่อร่อย แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความดั้งเดิมในคอนเซปต์นิกายเซ็น "กินเพื่อสร้างความสมดุลให้กับร่างกาย"

ในจานอาหารของเธอ จึงต้องมี 5 สี และ 5 รส ส่วนวัตถุดิบก็เลือกเอาตามฤดูกาล มาปรับเปลี่ยนเป็นเมนูใหม่ๆ ในทุกๆ วัน

ปิดท้ายด้วยอาหารที่ทุกบ้านญี่ปุ่นต้องทำ "Onigiri" โอนิกิริ ข้าวปั้นห่อสาหร่ายทรงสามเหลี่ยม ครั้งนี้เคโกะซังเลือกใช้ข้าวไรซ์เบอร์รี่แทนข้าวขาวญี่ปุ่น สีสันสวยไปอีกแบบ มีรสเค็มๆ มันๆ ติดปลายลิ้นทุกคำที่กัดผ่านสาหร่ายแผ่นโตที่ห่อไว้ อันที่จริงข้าวปั้นญี่ปุ่น ส่วนใหญ่แม่บ้านญี่ปุ่นจะทำเป็นอาหารที่ให้คนในครอบครัวพกติดตัวเอาไปกินนอกบ้าน

กลัวหิวระหว่างทางทำนองนั้น

แต่ไม่ทันได้ออกจากร้าน ข้าวปั้นก็ถูกจัดการจนเรียบ อิ่มท้องและอิ่มใจกันทุกคน เป็นสิ่งปิดท้ายความละเอียดในการบริการด้วยหัวใจ ทักษะ ตะมุตะมิ คิขุ ของชาวอาทิตย์อุทัย กับสถานที่ที่เปลี่ยนไป เจียงใหม่เจ้า

 

 อ่านข่าวเพิ่ม : 

เชียงใหม่ที่เปลี่ยนไปในจังหวะ "ต๊ะ ต่อน ยอน"

วันนี้ที่ “กาดหลวง” ในวันที่เชียงใหม่ไม่เหมือนเดิม

ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก จ.เชียงใหม่ ร้องแก้ไข พ.ร.บ.โรงแรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง