ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“วัดต้นเกว๋น” ต้นแบบอนุรักษ์อาคารสถาปัตยกรรมล้านนา

ภูมิภาค
14 ก.พ. 66
17:02
8,853
Logo Thai PBS
“วัดต้นเกว๋น” ต้นแบบอนุรักษ์อาคารสถาปัตยกรรมล้านนา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วัดอินทราวาส หรือ “วัดต้นเกว๋น” แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนผ่านตามยุคสมัย คือ ความงดงามของสถาปัตยกรรม และความศรัทธาของชาวบ้านที่ช่วยกันอนุรักษ์ จนได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนา จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

กำจร สายวงศ์อินทร์ หรือ ลุงจร อายุ 66 ปี เล่าถึงความสำคัญของวัดต้นเกว๋น ถือเป็นสถานที่สำคัญสำหรับสรงน้ำพระธาตุ ที่อัญเชิญมาจากวัดพระธาตุศรีจอมทอง อ.จอมทอง ไปยังเมืองเชียงใหม่ ที่อยู่ห่างกันราว 60 กิโลเมตร ต้องใช้เวลา 1 วัน การเดินทางระหว่างกันของสองเมืองในอดีตใช้ช้าง ม้า ล้อเกวียน ผ่านทางหน้าวัด จากวัดถึง วัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่ห่างกันประมาณ 10 กิโลเมตร กว่าจะเข้าเมืองก็พักที่ต้นเกว๋น 1 คืน อาบน้ำ แต่งตัวเพื่อจะเข้าเมือง การเดินทางพระธาตุเข้าเมืองไม่ใช่มีทุกปี จะมีวันสำคัญของเจ้าครองเมือง เช่น วันบวชลูกชาย วันแต่งงาน หรือเฉลิมฉลองงานสำคัญในเมือง ก็จะอัญเชิญพระธาตุจอมทองมาให้เจ้าเมือง และประชาชนได้สรงน้ำ

พระธาตุจอมทองมีองค์เดียวในประเทศไทยที่สามารถเคลื่อนที่ได้ ไปไหนมาไหนได้ พระธาตุองค์อื่น เช่น พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุหริภุญชัย ล้วนแต่ฝั่งใต้ดิน และในโลกมีอีกที่ คือ พระเขี้ยวแก้ว ในประเทศศรีลังกา พระธาตุจอมทองจึงมีความสำคัญมากกับประชาชาชนในพื้นที่และชาวเชียงใหม่

 อาคารสำคัญในวัดต้นเกว๋น

อาคารที่มีความสำคัญมาก คือ อาคารจตุรมุข ซึ่งไม่เห็นที่ไหนในวัดทั่วไปในเชียงใหม่ สันนิษฐานได้ว่าเป็นที่พักของพระธาตุจอมทอง และเป็นอาคารสำหรับสรงน้ำพระธาตุ ที่เรียกศาลาจตุรมุข เพราะหลักฐาน รางสำหรับสรงน้ำ บุษบกของพระธาตุจอมทองสำหรับสรงน้ำของพระธาตุจอมทอง ถ้าองค์พระธาตุเดินทางมาถึงก็อาจพักอยู่ 3-7 วัน เพื่อให้ประชาชนในย่านนี้ได้สรงน้ำ

 “หอนอน” หรือ วิหาร

องค์พระธาตุ เหมือนกับคนทั่วไป เมื่อถึงเวลาตอนเย็นก็จะเอาพระธาตุจอมทองเข้าที่พักในวิหาร คนท้องถิ่นเรียกว่า “หอนอน” อัญเชิญพระธาตุเข้าพัก เพื่อพรุ่งนี้ค่อยเอามาให้ประชาชนสรงน้ำอีกครั้งหนึ่ง

 “ศาลายาว” หรือ ระเบียงคต

เป็นที่พักของข้าพระธาตุ เพราะการอัญเชิญพระธาตุจะมีขบวนช้าง ม้า มาถึงก็จะนอนค้าง 1 คืนเป็นอย่างน้อย บริเวณวัดจะมีบ่อน้ำ 2 แห่ง ตามที่คนแก่บอกไว้ในอดีต ถ้าข้าพระธาตุมาจะมีผู้หญิง ผู้ชาย เพื่อให้แต่งเนื้อแต่งตัว อาบน้ำบริเวณนี้ กลางคืนก็จะนอนบริเวณระเบียงคต หรือ “ศาลายาว”

 “วัดต้นเกว๋น” กับการอนุรักษ์

การได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2532 โดดเด่นการอนุรักษ์ รักษาอาคารสถานที่ไว้ทุกอย่างตั้งแต่ กำแพงวัด ศาลายาว ศาลาจตุรมุข วิหาร และพื้นที่โดยรอบ ถือเป็นสถาปัตยกรรมล้านนาที่ยังสมบูรณ์คงความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนา และวัดต้นเกว๋น ยังเป็นส่วนหนึ่งของการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเมืองเชียงใหม่ รวมถึงความงามของสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะวิหาร ยังถูกนำไปเป็นต้นแบบของอาคารหอคำหลวง ในงานพืชสวนโลกที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ

การอนุรักษ์อาคารปัจจุบันมีเพียง เงินบริจาคในวิหารที่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวมาทำบุญ ในเดือนหนึ่งได้เงินราว 5 หมื่นบาท จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆของวัด ส่วนความสนใจการอนุรักษ์อาคารเริ่มมาตั้งแต่ “ดร.ฮันส์ เพนธ์” ชาวเยอรมัน และ “พ่อหนานพวงคำ ตุ้ยเขียว” เคยมาอาศัยอยู่ที่วัดค้นคว้าประวัติศาสตร์ คัมภีร์ใบลาน จนทำให้วัดต้นเกว๋นเป็นที่รู้จักและสนใจจากของคนไทย จนนำไปสู่การอนุรักษ์ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี 2526 ช่วงของการอนุรักษ์ หรือบูรณะ ไม่ได้ใช้งบประมาณส่วนราชการ ชาวบ้านและศรัทธาช่วยกันดูแล รักษาจนได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ช่วงการบูรณะของกรมศิลปากร ก็มีชาวบ้านเป็นช่างในชุมชน

 ประวัติวัดต้นเกว๋น

วัดต้นเกว๋น หรือ วัดอินทราวาส ตั้งอยู่ ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ วัดต้นเกว๋น ใช้นามไม้เป็นชื่อของวัด “เกว๋นคือตะขบป่า” หมายถึงบริเวณที่ตั้งวัดนี้เมื่อก่อนมีต้นเกว๋นอยู่ ปัจจุบันปรากฏอยู่ในวัด 1 ต้นและได้มีชื่อใหม่ว่า “อินทราวาส” หมายถึงชื่อเจ้าอาวาสรูปหนึ่งที่มีความสำคัญ และปรับปรุงพัฒนาวัดนี้ให้มีความเจริญรุ่งเรืองและสวยงาม วัดนี้สร้างขึ้นระยะประมาณ พ.ศ.2399 – 2412 สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เป็นเจ้าปกครองเมืองเชียงใหม่

ปัจจุบันวัดต้นเกว๋น มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณีล้านนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง