วันนี้ (16 ก.พ.2566) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ Center for Medical Genomics เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ ความฉับไวขององค์การอนามัยโลกต่อการรับมือโรคอุบัติใหม่ร้ายแรงไวรัส "มาร์บวร์ก" ที่แพร่จากค้างคาวมาสู่มนุษย์ ศูนย์จีโนมฯ ร่วมมือกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ใช้เทคโนโลยี mNGS ตรวจสอบไวรัสในแมลงที่ดูดเลือดค้างคาวที่อาศัยในถ้ำ
ศูนย์จีโนมฯ ระบุว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดมาตรการรับมือโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดขึ้นประจำถิ่น (Endemic) และโรคอุบัติใหม่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่ระบาดเป็นปัญหาไปทั่วโลก (Pandemic) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่เรายังความขาดความรู้ ความเข้าใจ ขาดวัคซีน ขาดยา ขาดชุดตรวจติดตามเชื้อ
ส่วนมากจะเป็นไวรัสจากสัตว์เลือดอุ่นแพร่มาสู่มนุษย์ ทำให้ต้องมีการระดมความร่วมมือระหว่างชาติภาคีขององค์การอนามัยโลกในการวิจัยและพัฒนาเพื่อหาทางป้องกันและรักษาโรคเหล่านี้ให้ได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้กำหนดรายชื่อโรคติดเชื้อออกมาทั้งสิ้น 9 โรค อันมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อไวรัส
องค์การอนามัยโรคจะจัดให้มีการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อจากทั่วโลกกว่า 300 คน เพื่ออัปเดตรายชื่อโรคติดต่อร้ายแรงเหล่านี้เป็นประจำทุกปี โดยรายชื่อโรคติดเชื้อร้ายแรงในปัจจุบัน จัดทำเมื่อปี 2021
- โรคไวรัสโควิด-19
- โรคไวรัส อีโบลา (Ebola) และโรคไวรัส "มาร์บวร์ก (มาร์บวร์ก)
- โรคเลือดออกอักเสบโครมี-คองโก (CCHF)
- โรคไวรัสซิกา (Zika virus)
- โรคไวรัสโคโรนากลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS-CoV)
- โรคไวรัสทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS)
- โรคไวรัส นิปาห์ (Nipah) และเฮนิปา (henipaviral)
- โรคลัสซาฟีเวอร์ (Lassa fever)
- โรค X (แทนโรคที่เราไม่เคยรู้จักหรือโรคเกิดขึ้นใหม่ที่อาจเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดไปทั่วโลก)
ดังนั้นเมื่อไวรัสมาร์บวร์ก กลับมาระบาดอีกครั้งทางองค์การอนามัยโลกจึงสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและฉับไวในการยุติการระบาดของโรคไม่ให้แพร่กระจายออกไป
"ไวรัสมาร์บวร์ก" ระบาดใน "อิเควทอเรียลกินี"
วันที่ 7 ก.พ.2566 พบการระบาดของไวรัสมาร์บวร์ก ในประเทศอิเควทอเรียลกินี วันที่ 13 ก.พ. 2566 องค์การอนามัยโลกประกาศแจ้งเตือนทั่วโลกถึงไวรัสอันตรายมาร์บวร์ก ที่เกิดการระบาดเมื่อต้นสัปดาห์นี้เป็นครั้งแรกในประเทศอิเควทอเรียลกินี ซึ่งเป็นประเทศทางชายฝั่งตะวันตกของแอฟริกากลาง มีพื้นที่ 28,000 ตารางกิโลเมตร ใกล้เส้นศูนย์สูตรทำให้มีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 9 คน
ประเทศอิเควทอเรียลกินี ยืนยันการระบาดของโรคเป็นครั้งแรกในประเทศ การทดสอบเบื้องต้นทางห้องปฏิบัติการดำเนินการหลังจากมีผู้เสียชีวิตไป 9 คน ในจังหวัดเคียนเท็มทางตะวันตกของประเทศ ผลยืนยันจากห้องแลปเป็นบวก
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของอิเควทอเรียลกินีได้ส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการอ้างอิงของสถาบันปาสเตอร์ในประเทศเซเนกัล โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก เพื่อหาสาเหตุของโรค หลังจากมีการแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำเขต เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ถึงผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ จากตัวอย่าง 8 ตัวอย่าง ที่ส่งไปทดสอบที่สถาบันปาสเตอร์ หนึ่งตัวอย่างให้ผลเป็นบวกต่อไวรัสมาร์บวร์ก
จนถึงขณะนี้ มีรายงานผู้เสียชีวิต 9 คน มีผู้ต้องสงสัย 16 คน ซึ่งปรากฎอาการต่าง ๆ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย อาเจียนเป็นเลือด และท้องเสีย
องค์การอนามัยโลกได้มีการส่งทีมล่วงหน้าไปยังเขตที่ได้รับผลกระทบเพื่อติดตามผู้สัมผัส แยกตัว และให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ที่แสดงอาการของโรค องค์การอนามัยโลกได้จัดส่งเต็นท์ รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 500 คน เพื่อดูแลผู้ป่วยและจัดเก็บตัวอย่างส่งตรวจ
เมื่อปลายปีที่แล้วมีรายงานการระบาดของไวรัสมาร์บวร์ก ในประเทศกานา แม้จะเป็นโรคที่พบได้น้อยมากในคน แต่เมื่อเกิดการติดเชื้อมีโอกาสที่จะแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ถึงแก่ชีวิตได้
รู้จักโรค "ไวรัสมาร์บวร์ก" มีสัตว์เลือดอุ่นเป็นพาหะ
โรคไวรัสมาร์บวร์ก เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้เลือดออกติดต่อแพร่ระบาดได้ง่าย (highly infectious) ไวรัสมาร์บวร์กมีสายจีโนมเป็นอาร์เอ็นเอ มีสัตว์เลือดอุ่นเป็นพาหะ เป็นไวรัสในตระกูล Filoviridae เช่นเดียวกันกับไวรัสอีโบลา โรคทั้ง 2 มีอัตราการเสียชีวิตสูง อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมาร์บวร์กในการระบาดครั้งก่อนที่ประเทศกานาอยู่ระหว่างร้อยละ 24 ถึงร้อยละ 88 ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสและคุณภาพของการจัดการผู้ป่วย
ไวรัสมาร์บวร์ก อาจแพร่มาสู่คนเป็นครั้งแรกจากค้างคาวกินผลไม้ในทวีปแอฟริกาอันเนื่องมาจากมีคนที่เข้าไปทำงานในเหมืองและในถ้ำไปมีการสัมผัสกับค้างคาว Rousettus ในถ้ำเป็นระยะเวลานาน
ไวรัสมาร์บวร์กไม่ใช่โรคติดต่อทางอากาศ (airborne disease) นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาว่าไวรัสมาร์บวร์กระบาดจากค้างคาวมาสู่มนุษย์ได้ด้วยวิธีใด (route of infection) เช่น อุจจาระ ปัสสาวะของค้างคาวในพื้นถ้ำ หรือแมลงจากค้างคาวในถ้ำกัด หรือจากเลือดค้างคาวเอง
แต่พบการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วระหว่างมนุษย์ด้วยกันผ่านการสัมผัสโดยตรงกับของเหลวในร่างกายของผู้ติดเชื้อ เช่น เลือด น้ำลาย หรือปัสสาวะ รวมทั้งบนพื้นผิวและวัสดุต่าง ๆ ญาติและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด ไวรัสยังสามารถแพร่เชื้อได้จากศพสู่คนไปร่วมงานได้ด้วย
พบไวรัสครั้งแรกในปี พ.ศ.2510 เนื่องจากเกิดการระบาดในหมู่เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการในเมือง "มาร์บวร์ก" และแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี และในกรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบียขณะทำการวิจัยตัวอย่างจากค้างคาวจากประเทศแอฟริกา
เช็กอาการ ไข้สูง - ปวดศีรษะรุนแรง - หนาวสั่น
ศูนย์จีโนมฯ อธิบายเพิ่มว่า ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก อาการต่าง ๆ สามารถเริ่มแสดงอย่าง "ฉับพลัน" และรวมถึงไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น และไม่สบายตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและปวดตะคริวเป็นอาการทั่วไป อื่น ๆ อาจรวมถึงดีซ่าน คลื่นไส้ ปวดท้อง และท้องเสีย
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (US CDC) ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าประมาณวันที่ 5 ผื่นที่ไม่มีอาการที่หน้าอก หลัง หรือท้องสามารถเกิดขึ้นได้ การวินิจฉัยทางคลินิกของโรคมาร์บวร์ก "เป็นเรื่องยาก" เนื่องจากมีอาการหลายอย่างคล้ายกับโรคติดเชื้อประเภทอื่นๆ เช่น มาลาเรีย ไข้ไทฟอยด์ และอีโบลา
ในกรณีติดเชื้อร้ายแรง การเสียชีวิตมักเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 8 หรือ 9 หลังจากเริ่มมีอาการ และโดยทั่วไปจะมีอาการเสียเลือดและตกเลือดอย่างรุนแรง รวมถึงการทำงานผิดปกติของอวัยวะหลายส่วน
องค์การอนามัยโลกบรรยายลักษณะที่ปรากฏของผู้ป่วยติดเชื้อคล้ายผี (Ghost-like) ด้วยลักษณะดวงตากลวงลึก ใบหน้าที่ไร้ความรู้สึก และมีอาการง่วงนอนอย่างมาก
ยังไม่มีวัคซีน ยาต้านไวรัส รักษาแบบประคับประคอง
US CDC แจ้งว่ายังไม่มีวัคซีนหรือยาต้านไวรัสที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาคนไข้ติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก การดูแลผู้ติดเชื้อเป็นแบบประคับประคองตามอาการอันสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ เช่น การให้น้ำกลับคืนด้วยสารน้ำทางปากหรือทางหลอดเลือดดำ การรักษาระดับออกซิเจน การใช้ยาบำบัดตามอาการที่เกิดขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญบางคน กล่าวว่า ยาที่ใช้ได้กับไวรัสอีโบลาอาจนำมาใช้กับผู้ติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก แต่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์จากการทดลองทางคลินิก
ดังนั้นการเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับลักษณะการแพร่ระบาดของโรคให้กับประชาชนยังเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดขณะนี้ที่สามารถช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสมาร์บวร์กได้
การรักษาเชิงทดลอง ได้ผลในสัตว์
US CDC กล่าวว่า “การรักษาเชิงทดลอง” บางอย่าง สำหรับไวรัสมาร์บวร์ก ได้ผลในสัตว์ แต่ยังไม่มีผลการทดลองสนับสนุนในมนุษย์
องค์การอนามัยโลกจัดการประชุมด่วน ในวันที่ 14 ก.พ.2566 เพื่อหารือกับทั้งภาครัฐและเอกชนถึงการระบาดของโรคมาร์บวร์ก ที่เพิ่งเกิดขึ้นที่ประเทศอิเควทอเรียลกินี และความเป็นไปได้ในการผลิตวัคซีนและยาต้านไวรัส นอกจากนี้ยังจะส่งทีมงานไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
ดร.มัตชิดิโซ โมเอติ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคแอฟริกากล่าว “มาร์บวร์กเป็นโรคติดต่อร้ายแรง” ต้องขอบคุณการดำเนินการอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดของทางการของประเทศอิเควทอเรียลกินีในการยืนยันโรค การรับมือเหตุฉุกเฉินดำเนินการได้อย่างเต็มที่อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เราสามารถช่วยชีวิตและหยุดการระบาดของไวรัสโดยเร็วที่สุด
กักตัว 4,000 คน ให้อยู่บ้าน
ประเทศอิเควทอเรียลกินี เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ประกาศกักตัวประชาชนมากกว่า 4,000 คน ให้อยู่บ้าน รัฐบาลอิเควทอเรียลกินี ตัดสินใจกักตัวประชาชนในเขต Nsok Nso mo และ Ebibeyin ภายในบ้าน โดยมีการเฝ้าระวังทุกวันโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตามประกาศจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2566
องค์การอนามัยโลก ล่าสุดระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 9 คน มีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ 16 คน ที่ต้องแยกตัวในโรงพยาบาล และอีก 21 คน ที่มีการสัมผัสโดยตรงกับผู้เสียชีวิต ถูกแยกตัวและเฝ้าติดตามที่บ้าน
ศูนย์จีโนมฯ ระบุทิ้งท้าย โรคอุบัติใหม่โดยเฉพาะที่มีสาเหตุมาจากไวรัสในสัตว์กระโจนเข้าสู่มนุษย์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ดังนั้นการตรวจพบเชื้อไวรัสให้ได้ก่อนที่จะเกิดการระบาดเป็นวงกว้างในหมู่ประชาชนย่อมจะทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ จึงได้นำเทคโนโลยี "mNGS" เข้ามาใช้เสมือนเป็นเรด้าเตือนภัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง