วันนี้ (17 ก.พ.2566) เวลา 08.45 น. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะ ให้การต้อนรับและให้กำลังใจคนไทยที่ประสบเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศตุรกี และเข้าตรวจสุขภาพที่สถาบันบำราศนราดูร เบื้องต้น 1 คนมีอาการปวดหลังส่งต่อรพ.ภูมิพลฯ หากผู้ที่เดินทางมาสุขภาพแข็งแรงปกติก็จะให้กลับบ้านได้ โดยกระทรวงคมนาคมได้จัดรถให้บริการรับ-ส่ง
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับคนไทย 35 คนที่มาพักที่สถาบันบำราศนราดูรนั้น เป็นการพักชั่วคราว โดยมีการดำเนินการตรวจสุขภาพกายและจิตใจ หากพร้อมก็จะกลับภูมิลำเนาได้ ซึ่งขณะนี้กลับบ้านได้หมด และส่วนใหญ่ญาติมารับ เหลือ 1 ท่านอยู่ระหว่างติดต่อญาติ ส่วนใหญ่สุขภาพกายแข็งแรงดี แต่สุขภาพจิตยังมีอาการตกใจ ซึ่งทีมจากกรมสุขภาพจิตมาดูแล
โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า สรุปคนไทยเดินทางกลับจากตุรกีจำนวนทั้งหมด 36 คน และร่างผู้เสียชีวิต 1 ร่าง รายละเอียด ดังนี้
- นอนค้างที่สถาบันบำราศนราดูร จำนวน 32 คน
- ไม่ได้เข้าพักที่สถาบันบำราศนราดูร จำนวน 4 คน (กลับ3คน/ไปรพ.1คน มีอาการปวดหลัง)
คมนาคมจัดรถไปนำส่งตามจุดต่าง ๆ โดยออกรถจากสถาบันบำราศนราดูร เวลา 09. 00 น.ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้
1. ชุมทางบางซื่อ 8 คน 2. นครชัยแอร์ 4 คน 3. สถานีขนส่งหมอชิต 8 คน 4. สนามบินสุวรรณภูมิ 3 คน และ5. เดินทางกลับเอง 9 คน รวม 32 คน
ร่างหญิงไทยเสียชีวิตเหตุแผ่นดินไหวตุรกี ถึงบ้านชัยภูมิแล้ว
ร่างของแรงงานหญิงไทยที่เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวที่ตุรกี เจ้าหน้าที่ได้นำร่างกลับถึงภูมิลำเนาที่ จ.ชัยภูมิ แล้ว เพื่อบำเพ็ญกุศลทางศาสนา ซึ่งการนำร่างกลับประเทศครั้งนี้ ครอบครัวกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย แต่เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ไม่มีค่าใช้จ่าย
ร่างของ แรงงานไทยในตุรกีที่เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหว ถูกนำกลับมาบำเพ็ญกุศลที่บ้านห้วยแย้ ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เมื่อช่วงเวลาประมาณ 02.00 น. หลังจากที่รัฐบาลไทยได้นำเครื่องบินซี 130 ไปรับร่างแรงงานไทยที่เสียชีวิตในตุรกีมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนที่รถตู้ของสภากาชาดไทยจะนำร่างผู้เสียชีวิตกลับภูมิลำเนา
ทันทีที่ร่างมาถึงบ้านเกิด พ่อแม่ผู้เสียชีวิตได้สอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ เพราะมีความกังวลใจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการนำศพกลับประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ชี้แจงว่าไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
จากนั้น เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้นำเอกสารการรับมอบร่างของผู้เสียชีวิตให้พ่อแม่เซ็นรับทราบ และญาติจะบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมศพ 3 วันก่อนจะมีพิธีฌาปนกิจ
สำหรับ น.ส.ชไมพร เดินทางไปทำงานที่ตุรกี ด้วยการเป็นพนักงานนวดสปา ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ประมาณ 4 ปี แต่เป็นการเดินทางไปในลักษณะนักท่องเที่ยว ไม่ได้ผ่านกรมการจัดหางาน และไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ทำให้ไม่ได้รับเงินชดเชยเยียวยา มีเพียงเงินบำนาญจากประกันสังคมที่ได้รับประมาณ 15,000 บาท
ข่าวอ่านเพิ่ม :