การมอบดอกกุหลาบ แม้จะทำในวันวาเลนไทน์ เมื่อ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ไม่ได้มอบให้คู่รัก แต่มอบเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการร่วมเรียกร้อง ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิแรงงาน สำหรับแรงงานข้ามชาติ ผ่านแคมเปญ Who made my flower
ที่รณรงค์เรื่องนี้ เพราะพืชเศรษฐกิจอย่างดอกกุหลาบ มีแรงงานข้ามชาติเป็นแรงงานหลัก
ช่วงโควิด -19 ที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติ ต้องประสบปัญหาต่าง ๆ เช่น การรับเงินเยียวยาจากภาครัฐ การเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงข้อจำกัดด้านภาษา
จนเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม กิจกรรมการแจกดอกไม้ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสียงเรียกร้อง ให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเป็นธรรม
NAN AYE NAUNG หนึ่งในแรงงานข้ามชาติ ใน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอ คือการถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง การใช้แรงงานเกินกว่ากฎหมายกำหนด
จากข้อมูลของเครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ พบว่า ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 มีแรงงานข้ามชาติหายไปจากระบบกว่า 640,000 แสนคน ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของไทย เช่น ธุรกิจก่อสร้างที่ในปี 2563 ขาดแคลนแรงงานกว่า 200,000 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 100,000 ล้านบาท
กิจกรรมนี้ ไม่ได้มีเฉพาะตัวแรงงาน แต่ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้นด้วย
ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน ระบุว่า ในประเทศไทย มีแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมายกว่า 2.5 ล้านคน และ จ.เชียงใหม่ อยู่ในอันดับที่ 8 จาก 10 จังหวัด ที่มีแรงงานข้ามชาติมากที่สุด ซึ่งตัวเลขนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบเท่านั้น