ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ จากข้อมูลจะพบว่ามีจำนวนของคนไข้ผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเฉพาะโรคมะเร็ง หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ไตเรื้อรัง สมองเสื่อม และโรคความเสื่อมของกระดูกและข้อ เข่าเสื่อม สะโพกเสื่อม หลังเสื่อม
"รามาธิบดี" เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลรัฐที่ต้องดูแลคนไข้แอดมิตประมาณปีละ 5,000,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเคสซับซ้อนเกิน 80% ทั้งผ่าตัด ปลูกถ่ายอวัยวะ ไต ตับ หัวใจ รวมทั้งมะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งเม็ดเลือดขาว คนไข้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60% รองลงมาเป็นวัยกลางคน 30% วัยรุ่นและเด็ก 10%
แต่อาคารหลักในปัจจุบันถูกใช้งานนาน 57 ปี มีข้อจำกัดที่ไม่เอื้อต่อการปรับปรุง พัฒนา และการรองรับเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย นำมาสู่โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2571
ศ.ดร.พญ.อติพร อิงค์สาธิต รอง ผอ.รพ.รามาธิบดี อธิบายความจำเป็นในการก่อสร้างอาคารใหม่ ทดแทนอาคารหลังเก่า 9 ชั้น ว่า ทางวิศวกรมองว่าโครงสร้างอาคารไม่เอื้ออำนวยต่อการปรับปรุงการใช้สอย โดยโรงพยาบาลต้องรองรับผู้เข้ารับบริการจำนวนมาก จนเกิดความแออัด คนไข้รอคิวรักษาและผ่าตัดยาวนาน
อาคารใหม่ตอบโจทย์ปัญหาความแออัด เพราะขยายการให้บริการ รองรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้น มีความทันสมัย และได้มาตรฐานวิชาชีพ เพิ่มห้อง ICU จาก 100 ห้อง เป็น 200 ห้อง
"คนไทย" ทุกคนเข้าถึงบริการได้
รอง ผอ.รพ.รามาธิบดี ยืนยันว่า อาคารหลังใหม่นี้ คนไทยทุกคนเข้าถึงได้ตามระบบสามัญ โดยเฉพาะเคสซับซ้อนที่โรงพยาบาลต้นทางไม่สามารถดูแลได้ และต้องการความเชี่ยวชาญเพิ่มเติม เช่น โรคมะเร็ง การปลูกถ่ายอวัยวะ โรคระบบสมอง ที่สามารถใช้เทคโนโลยีแทนการผ่าตัด รักษาโดยหัตถการ ทั้งการขยายหลอดเลือดสมอง ขยายหลอดเลือดหัวใจ เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น
สิทธิอะไรก็เข้าถึงได้ บัตรทอง สปสช. ประกันสังคม ข้าราชการ เน้นโรคที่มีความซับซ้อน ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ขั้นสูง
ศูนย์รักษา "มะเร็ง" ครบวงจร
การออกแบบของอาคารหลังใหม่ สอดคล้องกับการใช้งานของกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ เน้นศูนย์รวมสหสาขาวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ เป็น One stop service ยกตัวอย่างศูนย์รักษาโรคมะเร็ง จะมีแพทย์ทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง ทั้งอายุรกรรม ศัลยกรรม สูตินารีเวช หลอดเลือด รวมทั้งวิชาชีพอื่น ๆ เช่น เภสัชกรรมคลินิกที่เชี่ยวชาญให้ยาเคมีบำบัด ขณะที่ศูนย์ดูแลโรคทางสมอง จะมีอายุรแพทย์ด้านสมอง ศัลยแพทย์ด้านสมอง นักกายภาพบำบัด รวมถึงจิตแพทย์ร่วมดูแลคนไข้
ศ.ดร.พญ.อติพร กล่าวว่า ภาพรวมของไทยยังขาดแพทย์ทั่วไปและแพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะบางสาขาที่ขาดแคลนหนักมาก เช่น โรคทางด้านสมอง โรคเลือด โรคมะเร็ง จุดเด่นของโครงการนี้ จะมีศูนย์มะเร็งครบวงจร รวมโรคเลือด โรคสมอง โรคมะเร็ง โดยได้เปิดศูนย์ฝึกอบรมต่อยอด แพทย์จะได้เรียนรู้เคสที่ซับซ้อนไปด้วย
ตั้งเป้าพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ ลดนำเข้า
ส่วนอาคาร YMID จะเป็นศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ และรวบรวมผลงานของประเทศ เช่น การผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องเก็บน้ำยารักษาอวัยวะต่าง ๆ เครื่องพิมพ์สามมิติสร้างอวัยวะเทียม หากผ่านกระบวนการวิจัยอย่างเหมาะสมและใช้ในเคสที่ศึกษาวิจัย จะเพิ่มความมั่นใจว่าสามารถใช้นวัตกรรมนี้ได้จริง และค่าใช้จ่ายที่ขณะที่ไทยนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ เกือบ 100%
อยากเป็นสถาบันในฝันของผู้ที่อบรมเฉพาะทางของแพทย์ทั่วประเทศ
รอง ผอ.รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า อาคารใหม่ออกแบบด้วยแนวคิด “เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุก(ข์)คน” เข้าใจเขา คือ เข้าใจผู้ป่วยและญาติ โดยมีจุดส่งคนไข้ ยาว 140 เมตร และทางเข้าอาคาร 4 ประตู ที่จอดรถ 1,900 คัน อำนวยความสะดวกการติดต่อสิทธิต่าง ๆ การเตรียมตัวและตรวจก่อนผ่าตัดแบบ รวมทั้งเพิ่มจำนวนห้องพัก เพิ่มห้องเดี่ยว
เข้าใจเรา คือ เข้าใจบุคลากร ทั้งเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล ผู้ที่มาฝึกอบรม แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด เอ๊กซ์เทริ์น นักศึกษาพยาบาล โดยจัดที่พักผ่อนเพียงพอ ห้องอาหาร ห้องพักแพทย์เวร พยาบาลเวร และโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ
พวกเขาทำงานหนักเกือบตลอด 24 ชั่วโมง เขาก็ควรจะได้รับจุดพักผ่อนที่เพียงพอ เข้าใจทุก(ข์)คน คือ เข้าใจความทุกข์ของคนที่ทำงาน ผู้ป่วย และญาติ
โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี จะมีความสูง 25 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนหนึ่งของด้านหน้าองค์การเภสัชกรรม มีขนาด 15 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 278,000 ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าพื้นที่ใช้สอยของอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์เกือบ 3 เท่า
แม้จะได้รับงบฯ ส่วนหนึ่งจากรัฐบาล 10,020 ล้านบาท หรือ 70% เพราะเน้นดูแลผู้ป่วยในระบบสามัญ ส่วนอีก 30% เป็นงบฯ ของมูลนิธิรามาธิบดี แต่ยังขาดงบฯ ก่อสร้างอีก 3,000 ล้านบาท และงบฯ จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ อีก 5,000 ล้านบาท จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคกับมูลนิธิรามาฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ และรองรับผู้ป่วยที่มีความซับซ้อน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง คนไทยป่วยไตเรื้อรังเพิ่ม - 2 แสนคนต้องฟอกไต-ล้างทางช่องท้อง