ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก 5 วัตถุขยะอวกาศอันตราย เสี่ยงทำลายระบบดาวเทียมสื่อสารโลก

Logo Thai PBS
รู้จัก 5 วัตถุขยะอวกาศอันตราย เสี่ยงทำลายระบบดาวเทียมสื่อสารโลก
ผู้เชี่ยวชาญขึ้นบัญชีดำ 5 วัตถุขยะอวกาศอันตราย พร้อมเฝ้าระวังจับตาดูทุกความเคลื่อนไหว เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับดาวเทียมดวงอื่น ๆ ในวงโคจรของโลกได้

ในปัจจุบันพื้นที่อวกาศรอบดาวเคราะห์โลกของเรานั้นเต็มไปด้วยดาวเทียมหลายพันดวงจากนานาประเทศ ที่ทำให้ระบบการติดต่อสื่อสารของมนุษย์ในโลกยุคสมัยใหม่ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นเสมอมา แต่ทว่าเมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา ชิ้นส่วนจรวดเก่าและดาวเทียมที่ไม่ได้ใช้งานแล้วของรัสเซียได้โคจรมาเฉียดกันในระยะเพียง 6 เมตร เท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนมองว่าเหตุการณ์นี้เกือบทำให้พื้นที่อวกาศรอบโลกนั้น กลายเป็นอัมพาตได้ เพราะการชนของวัตถุในอวกาศนั้นสามารถสร้างเศษขยะเล็ก ๆ นับแสนชิ้นขึ้นมา โดยมีคุณสมบัติไม่ต่างอะไรไปจากกระสุนปืนที่เดินทางรอบโลกด้วยความเร็วหลายพันกิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อดาวเทียมดวงอื่น ๆ

มิหนำซ้ำในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ดาวเทียมรุ่นเก่าของรัสเซียอีกดวงหนึ่งก็ได้ระเบิดออกเป็นเสี่ยง ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งสถานีสังเกตการณ์ภาคพื้นสามารถตรวจจับได้ว่ามีเศษชิ้นส่วนแตกออกมาถึง 85 ชิ้นด้วยกัน อย่างไรก็ดีทั้งสองเหตุการณ์นี้ล้วนอยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุเฝ้าระวังที่ผู้เชี่ยวชาญด้านขยะอวกาศเฝ้าติดตามกันมานานหลายปีแล้ว โดยมี 5 วัตถุที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ดังนี้

1. ซากจรวดและดาวเทียมสอดแนม จากยุคสงครามเย็น

ในยุคที่ชาติอภิมหาอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตนั้นต่างแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ทางเทคโนโลยี ดาวเทียมสอดแนมก็ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสอดส่องฝ่ายตรงข้ามจากระยะไกล

ถึงกระนั้นหลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปี ค.ศ. 1991 ดาวเทียมสอดแนมก็ได้ถูกปลดประจำการลงตามไปด้วย โดยปราศจากการปรับเปลี่ยนทิศทางวงโคจรอย่างถูกต้องเหมาะสม จึงส่งผลให้ดาวเทียมสอดแนมจำนวนมากต่างลอยไปมาอย่างไร้ทิศทางบนวงโคจรของโลก ซึ่งรวมไปถึงเศษซากจรวดรุ่น SL-16 ที่เป็นพาหนะขนส่งดาวเทียมสอดแนมส่วนใหญ่ไปยังอวกาศอีกด้วย

โดยความน่ากังวลอยู่ที่ว่าเศษซากจรวดของอดีตสหภาพโซเวียตนั้นค่อนข้างมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับขนาดของรถประจำทาง ซึ่งจัดว่าเป็นขยะอวกาศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและน่ากังวลที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากเชื้อที่เพลิงที่จรวดรุ่น SL-16 ใช้นั้นเป็นเชื้อเพลิงจำพวกที่ให้แรงขับต่ำ ขนาดของถังเชื้อเพลิงในตัวจรวดจึงต้องมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย

2. เศษซากจากการทดสอบขีปนาวุธทำลายดาวเทียม

ในปี ค.ศ. 2007 ทางกองทัพจีนได้ทดสอบขีปนาวุธทำลายดาวเทียมสำรวจสภาพอากาศของตนที่มีน้ำหนักกว่า 750 กิโลกรัม ซึ่งได้ก่อให้เกิดเศษซากขยะอวกาศประมาณ 3,500 ชิ้น ที่เดินทางด้วยความเร็วกว่า 29,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงรอบวงโคจรของโลก

เหตุการณ์นี้จึงนับได้ว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์การเกิดขยะอวกาศที่ร้ายแรงที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ ซึ่งเศษซากที่หลงเหลือจากการทดลองขีปนาวุธนี้คาดว่าเป็นจำนวนวัตถุ 15% ที่ได้เข้าไปโคจรเฉียดดาวเทียมสื่อสารต่าง ๆ เมื่อปี ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา

3. ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรเก่า

นอกจากนี้ทางฝั่งองค์การอวกาศยุโรปที่มักแสดงตนเป็นผู้นำด้านการใช้พื้นที่ในอวกาศอย่างยั่งยืนนั้นก็กลับมีขยะอวกาศไม่ต่างจากชาติอื่นที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญกังวลเช่นกัน ซึ่งก็คือดาวเทียมสำรวจทรัพยากร Envisat ที่มีน้ำหนักระวาง 8.8 ตัน ได้ทำงานผิดพลาดขึ้นมา จนศูนย์ควบคุมไม่สามารถติดต่อกับดาวเทียมดวงนี้ได้ในช่วงปี 2012 ทำให้ดาวเทียม Envisat กลายเป็นขยะอวกาศขนาดยักษ์ไปในที่สุด

ในขณะที่ทางฝั่งองค์การนาซาของสหรัฐฯ ก็เคยเผชิญกับความล้มเหลวในการปลดดาวเทียมสำรวจทรัพยากรรุ่นเก่า จำนวน 7 ดวง ให้ตกลงมาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งดาวเทียมที่ยังคงลอยค้างอยู่นั้นมีขนาดใหญ่กว่า 1 - 4 ตัน ทั้งสิ้น

4. กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

หลังจากที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้รับการซ่อมแซม อัปเกรดอุปกรณ์ต่าง ๆ และปรับระดับวงโคจร โดยกระสวยอวกาศแอตแลนติสเป็นครั้งสุดท้ายในปี 2009 องค์การนาซาก็ได้ปลดประจำการกระสวยอวกาศทั้งหมดออกไปจากฝูงบิน ทำให้ไม่มียานอวกาศลำไหนที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยปรับระดับวงโคจรของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลให้คงที่ได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นในอนาคตกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลจึงมีความเสี่ยงที่จะลดระดับลงมาสู่พื้นที่ที่มีดาวเทียมสื่อสารโคจรไปมาอย่างหนาแน่นได้

มิหนำซ้ำนักวิทยาศาสตร์ก็ยังได้คาดการณ์ว่า ถึงแม้กล้องฮับเบิลจะลดระดับลงได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ไปชนกับวัตถุใด ๆ น้ำหนักที่มากกว่า 12.2 ตัน ของกล้องตัวกล้องนั้นกลับมากเกินกว่าที่ชั้นบรรยากาศของโลกจะเผาไหม้จนหมดได้ จึงมีความเสี่ยงที่เศษซากของกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลจะตกลงมาใส่พื้นที่ที่คนอาศัยอยู่ได้อีกด้วย

5. เครือข่ายอินเทอร์เน็ตดาวเทียมจากภาคเอกชน

ในปัจจุบันบริษัทภาคเอกชนอย่าง SpaceX และ Oneweb ต่างมีความต้องการที่จะส่งดาวเทียมนับพันดวงเข้าไปโคจรในวงโคจรระดับต่ำของโลก เพื่อสร้างเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ตดาวเทียมขึ้นมาแข่งขันกับระบบอินเทอร์เน็ตสายเคเบิลใต้ทะเลที่มีอยู่เดิม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าการส่งดาวเทียมจำนวนมากขึ้นไปในวงโคจรโลกอย่างมีนัยสำคัญนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการปะทะกับเศษซากขยะอวกาศชิ้นอื่น ๆ ได้มากขึ้นกว่าเดิม

ที่มาข้อมูล: SPACE.COM
ที่มาภาพ: European Space Agency
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง