ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คนไทยป่วยไตเรื้อรังเพิ่ม - 2 แสนคนต้องฟอกไต-ล้างทางช่องท้อง

สังคม
23 ก.พ. 66
09:15
2,355
Logo Thai PBS
คนไทยป่วยไตเรื้อรังเพิ่ม - 2 แสนคนต้องฟอกไต-ล้างทางช่องท้อง
รอง ผอ.รพ.รามาธิบดี เผยแนวโน้มคนไทยป่วยไตเรื้อรังเพิ่ม พบผู้ป่วย 2-3 แสนคน ต้องฟอกไต-ล้างไตทางช่องท้อง รัฐใช้งบฯ ดูแล ปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท แนะเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ รู้เร็วรักษาได้ พร้อมแนะ 5 ข้อลดเสี่ยง

กินเค็มมากไปอาจเสี่ยงหลายโรคร้าย องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้คนทั่วไปบริโภคโซเดียม ส่วนประกอบสำคัญของสารให้ความเค็มต่าง ๆ ไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือ เทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา เพื่อลดผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว

ศ.ดร.พญ.อติพร อิงค์สาธิต รอง ผอ.รพ.รามาธิบดี ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า โรคไตเป็นโรคที่ไม่มีอาการ และมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จึงแนะนำให้ตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากรู้เร็วตั้งแต่ระยะต้น ๆ จะรักษาได้ และมียาช่วยชะลอโรคนี้

ยกตัวอย่างเคสคนไข้อายุ 30 ปี มาด้วยอาการเหนื่อย หอบ เจาะเลือดแล้วพบว่าเป็นระยะที่ 5 รุนแรงแล้ว แพทย์ได้ซักประวัติว่ามีอาการเหนื่อยง่าย หรือปัสสาวะบ่อยหรือไม่ คนไข้ก็ไม่ทันสังเกต คิดว่าเหนื่อยง่ายเพราะทำงานหนัก เพลียเพราะนอนน้อย แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นไตเรื้อรัง

บางคนอายุไม่มาก มาแบบปกติ ไม่มีอาการ ตรวจพบว่าเป็นโรคไตระยะที่ 5 

รอง ผอ.รพ.รามาธิบดี อธิบายว่า โรคไตพบตั้งแต่กลุ่มเด็ก หรือวัยรุ่น จะเป็นโรคไตอักเสบ หรือเป็นโรคไตตั้งแต่กำเนิด ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุ อาจเกิดจากการใช้ยาที่มีพิษต่อไตนานเกินไป เป็นเบาหวาน ความดันที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งในกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น ครอบครัวจะต้องดูแลใกล้ชิด พาไปฟอกเลือด ล้างไตทางช่องท้อง

โรคไตเป็นโรคเรื้อรังที่สร้างความสูญเสียต่อคนไข้ ใช้ชีวิตไม่ปกติ กระทบการทำงาน เกิดภาวะซีด ภาวะของเสียสูงขึ้น

รัฐใช้งบฯ 3,000-4,000 ล้านบาท/ปี ดูแลผู้ป่วยโรคไต

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2563 พบว่า คนไทยป่วยโรคไตเรื้อรัง 17.6% ของประชากร หรือ 8,000,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 200,000 คน และพบแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นปีละ 7,800 คน

ศ.ดร.พญ.อติพร กล่าวว่า ผู้ป่วยไตระยะสุดท้าย ต้องล้างไตทางช่องท้อง หรือฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม ค่าใช้จ่ายอยู่ที่เดือนละ 20,000-25,000 บาท หรือรัฐต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ประมาณปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท

คนไข้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีเคสสะสม รัฐบาลอาจรองรับได้ตอนต้น และมีเอกชนเข้ามาช่วย

ปัจจุบันเครื่องไตเทียม อยู่ในสถานพยาบาลเอกชนมากกว่ารัฐบาล สัดส่วน 60% ต่อ 40% โดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และแพทยสภา จะควบคุมมาตรฐานและคุณภาพศูนย์ไตเทียมเอกชน เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัย

รอง ผอ.รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ในผู้ป่วยไตระยะสุดท้ายนั้น สปสช.ให้สิทธิพื้นฐานในการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม หรือล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งมีไม่กี่ประเทศในโลกที่มีสิทธิพื้นฐานในส่วนนี้ รวมทั้งปลูกถ่ายไตได้โดยใช้สิทธิ 30 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายปลูกถ่ายไตอยู่ที่ 300,000-400,000 บาทต่อคน

แต่ละปีมีผู้ป่วยต้องปลูกถ่ายไตประมาณ 700 คน จากคิวรอปลูกถ่ายไต 5,000 คน ถือเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อย ซึ่งปีนี้ (2566) โครงการของมูลนิธิโรคไตฯ จะผลักดันให้เกิดการปลูกถ่ายไตให้ได้ 1,000 ไต

คนไทยหลายคนยังเข้าใจว่าบริจาคร่างกายกับบริจาคอวัยวะเป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้ขาดผู้บริจาคเพื่อนำอวัยวะที่ยังใช้ได้ไปต่อชีวิต ช่วยคนที่เขารอ เช่น คนไข้โรคไตเรื้อรัง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าสร้างอาคารใหม่ รพ.รามาฯ รองรับสูงวัย-โรคซับซ้อน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง