ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

UAE ทำฟาร์มข้าวสาลีกลางทะเลทราย เพื่อความมั่นคงทางอาหาร

Logo Thai PBS
UAE ทำฟาร์มข้าวสาลีกลางทะเลทราย เพื่อความมั่นคงทางอาหาร
รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) หวังลดการนำเข้าข้าวสาลีและเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการทำฟาร์มข้าวสาลีกลางทะเลทราย โดยอาศัยเทคโนโลยีในการควบคุมการผลิต

ทะเลทรายคู่กับความแห้งแล้งฉันใด การเกษตรย่อมคู่กับน้ำฉันนั้น จึงเป็นเรื่องยากมากสำหรับประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นทะเลทรายในการทำการเกษตร ส่งผลให้ต้องอาศัยการนำเข้าสินค้าเกษตรจากภายนอกเป็นหลัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ก็เช่นกัน แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น ทำให้ห่วงโซ่อุปทานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบ รัฐบาลจึงได้คิดค้นการแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารนี้ โดยการทำฟาร์มข้าวสาลีกลางทะเลทรายด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย

รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ริเริ่มโครงการเพาะปลูกข้าวสาลีกลางทะเลทรายชาร์จาห์ (Sharjah) ให้เป็นฟาร์มขนาด 400 เฮกตาร์ หรือประมาณ 2,500 ไร่ เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายหลัก 2 ประการ คือ ลดการนำเข้าอาหาร และเพิ่มความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ

ฟาร์มข้าวสาลีกลางทะเล เกิดขึ้นจากการบูรณาการทางเทคโนโลยีที่หลากหลายในการควบคุมการผลิต ทั้งระบบผลิตน้ำเพื่อการชลประทาน ระบบการถ่ายภาพความร้อน ตลอดจนการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในการรวบรวมข้อมูลสภาพอากาศและดินสำหรับการควบคุมอัตราการให้น้ำ และติดตามการเจริญเติบโตของข้าวสาลีอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นฟาร์มที่ปลอดการใช้ยาฆ่าแมลง สารเคมี และเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม

ในปี 2022 ที่ผ่านมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้นำเข้าข้าวสาลี 1.7 ล้านเมตริกตันต่อปี ซึ่งผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับจากการทำฟาร์มข้าวสาลีในครั้งนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1,600 ตันต่อปี ที่ถึงแม้ว่าตัวเลขนี้จะแสดงให้เห็นถึงปริมาณที่ไม่มากนัก แต่ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของประเทศทะเลทรายที่มีความแห้งแล้ง อันเป็นอุปสรรคสำคัญของการเพาะปลูก โดยรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีแผนการขยายพื้นที่เพาะปลูกออกไปอีก เริ่มจาก 1,400 เฮกตาร์ หรือประมาณ 8,750 ไร่ ไปจนถึง 1,900 เฮกตาร์ หรือประมาณ 11,870 ไร่ ภายในปี 2025

ทั้งนี้การทำฟาร์มข้าวสาลีกลางทะเลทราย ต้นทุนการกลั่นน้ำทะเลเพื่อนำมาใช้ในการเพาะปลูกนั้นมีความท้าทายที่รัฐบาลต้องจัดการ โดยจะต้องใช้ต้นทุนด้านพลังงานในการผลิตน้ำจากน้ำทะเล 18,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันเพื่อการชลประทาน ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะลดลงตามสัดส่วนเมื่อโครงการขยายขนาดขึ้น

การผลิตพืชผลทางการเกษตรอย่างการทำฟาร์มข้าวสาลีนั้น ถือเป็นความท้าทายและเป็นก้าวที่สำคัญของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุดยอดรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงประจำปี 2023 (COP 28) และมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความมั่นคงทางอาหารท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มาข้อมูล: reuters, thenationalnews, i24news
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง