ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แพทย์หญิงวัย 27 ปี แชร์ประสบการณ์ป่วยมะเร็ง

สังคม
28 ก.พ. 66
13:39
1,387
Logo Thai PBS
แพทย์หญิงวัย 27 ปี แชร์ประสบการณ์ป่วยมะเร็ง
แพทย์หญิงวัย 27 ปี โพสต์แชร์ประสบการณ์ป่วย "มะเร็งต่อมน้ำเหลือง" ชนิดหนึ่งที่ดุและโตเร็ว กับการรักษาจนโรคเริ่มสงบ กลับมาทำงานเหมือนเดิมแล้ว แต่สถานะคนไข้ยังติดตัว ต้องตรวจติดตามเป็นระยะ

สื่อสังคมออนไลน์แชร์เรื่องราวของ "หมอลูกหมู" เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก "พักก้อน" โดยได้โพสต์เล่าประสบการณ์ในมุมของหมอที่จับพลัดจับผลูเป็นคนไข้แบบงง ๆ โดยระบุว่า เริ่มชีวิตในฐานะคนไข้อย่างไม่ได้ตั้งใจ ปลายเดือน เม.ย. 2022 หลังวันเกิดครบรอบ 27 ปี 2 เดือน จะพูดให้ชัดกว่านั้นคือ "คนไข้มะเร็ง"

เรื่องมีอยู่ว่า วันดีคืนดีของชีวิตแพทย์ใช้ทุนปี 2 เราคลำได้ก้อนที่คอ โตเร็วจนส่องกระจกก็เห็นว่ามีก้อนปูด ๆ ออกมา ไม่เจ็บ ไม่บวม ไม่แดง

สำหรับพวกเราชาวเมดดิซีนแล้ว ก้อนที่โตเร็วและไม่เจ็บ ดูไม่น่าจะเป็นก้อนที่เป็นมิตรได้เลย ก็เลยเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ

เรายังจำความรู้สึกที่เหมือนพื้นโลกที่เราเหยียบอยู่กำลังแตกออก เหมือนกับว่าเราจะหล่นวูบลงไปในช่องว่างที่มองไม่เห็น ตอนที่เราอ่านผลชิ้นเนื้อของตัวเองบนจอคอมพิวเตอร์ "Diffuse large B-cell lymphoma"

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่ดุ-โตเร็ว

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งที่ดุและโตเร็ว ใน 1 ปี จะมี 6,000 คนทั่วโลกที่ถูกวินิจฉัยด้วยโรคนี้ ใน 8,000 ล้านคน เราอยู่ในกลุ่ม 6,000 คนที่ถูกเลือก บางทีเราก็สงสัยว่าทำไมชีวิตที่ผ่านมาถึงรู้สึกหนักอกหนักใจจังเลย

ทุกอย่างเข้าใจได้ตอนเห็นผล CT scan เพื่อประเมินระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองก่อนเริ่มรักษา มีก้อนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตรอยู่ในช่องทรวงอกของเรา อยู่ระหว่างปอดสองข้าง ใกล้ๆ กับหัวใจและพวงเส้นเลือดใหญ่ต่างๆ ที่รับเลือดเสียกลับเข้าหัวใจ และส่งเลือดดีออกไปเลี้ยงร่างกาย

เราถูกตามมาแอดมิตทันทีที่อาจารย์โรคเลือดเห็นผล CT scan คุณก้อนตัวดีโตจนไปกดเส้นเลือดใหญ่เราซะแล้ว อีกไม่ถึงสัปดาห์เราอาจจะหน้าบวม แขนบวม หายใจไม่ออก จากภาวะที่เรียกว่า "SVC syndrome"

และวันนั้นเป็นวันสุดท้ายที่เราได้ทำงานในฐานะหมอ โดยไม่มีใครรู้เลยว่าเราจะได้กลับมาอีกมั้ย ก็คำว่า "มะเร็ง" ทำให้ไม่มีใครกล้าพูดได้เต็มปากว่าเราจะได้กลับมา

6 เดือนผ่านไป ก้อนก็ทำให้เราได้พักผ่อน อยู่บ้านอย่างระมัดระวัง ไปรับยาเคมีบำบัดตามรอบ มีหน้าที่อย่างคือห้ามติดเชื้อใด ๆ เด็ดขาด รับยาเคมีบำบัดให้ครบตรงเวลา และที่ทุกคนของ่าย ๆ "อย่าตาย"

วันนี้เราได้ยาเคมีบำบัดครบแล้ว การตรวจติดตามหลังรักษา อยู่ในสถานะโรคสงบ (in remission) เราได้กลับมาทำงานเต็มเวลา ได้กลับมารักษาคนไข้ และได้เป็นว่าที่แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ ตามที่เคยฝันมาตลอดตั้งแต่เป็น นศพ. ปีห้า
ภาพ : พักก้อน

ภาพ : พักก้อน

ภาพ : พักก้อน

นอกจากนี้ ยังเล่าด้วยว่า เดิมทีแล้วสำหรับเรามะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือ Lymphoma ก็เป็นแค่บทหนึ่งในตำราเรียน ที่จำได้บ้างไม่ได้บ้าง เป็นคำวินิจฉัยนึงของคนไข้ที่อยู่ในความดูแล ซึ่งแผนการรักษาก็มาจาก Hematologist หรืออายุรแพทย์โรคเลือดซะส่วนใหญ่

การเขียนออเดอร์ neutropenic diet, งดผลไม้เปลือกบาง ก็เป็นแค่ความเคยชินที่ทำให้สำหรับผู้ป่วยที่มารับเคมีบำบัด

จนวันหนึ่งมะเร็งก็เข้ามาอยู่ในชีวิตเรา อยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน หายใจไปพร้อมกัน

หลายคนอาจจะสงสัยว่าในฐานะหมอ พอเราป่วยเสียเองจะมีความคิดความรู้สึกต่างจากคนไข้ทั่วไปยังไงกัน

สำหรับตัวเราเองไม่ต่างเลย ออกจะกังวลมากกว่าคนไข้ทั่วไปด้วยซ้ำ ตลอดเวลา 6 เดือน ที่ป่วยและรับยาเคมีบำบัดเต็มไปด้วยความกังวล

เพราะเราเห็นมาตลอดว่า ถ้าคนไข้มะเร็งได้ยาเคมีบำบัดแล้ว มีการติดเชื้อแทรกซ้อน อาการจะรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป เพราะฉะนั้นเวลาจะกินอะไร หรือจะทำกิจกรรมอะไร เรามักจะคิดภาพตัวเองนอนซมให้ยาฆ่าเชื้อใน ICU อยู่บ่อย ๆ ตอนยังทำงานอยู่เราก็ไม่ต่างกับหมอหลายคนที่อยู่เวรห้องฉุกเฉิน แล้วเจอคนไข้ที่มาด้วยภาวะที่ไม่ได้ฉุกเฉินจริง

ภาพ : พักก้อน

ภาพ : พักก้อน

ภาพ : พักก้อน

ในช่วง 6 เดือนนั้นคนไข้ที่มีคำนำหน้าว่าแพทย์หญิงคนนี้ได้เข้าห้องฉุกเฉิน 2 ครั้ง และไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินที่อันตรายถึงแก่ชีวิตทั้ง 2 ครั้ง ครั้งแรกที่บ้านพาไปส่งเพราะเพลียมาก หน้ามืด

ส่วนอีกครัังคือท้องเสีย ปวดท้อง pain score 10/10 พอไปตรวจจริงก็ปกติดี เป็นแค่อาการลำไส้แปรปรวน และทั้ง 2 ครั้ง ที่ไปห้องฉุกเฉินนั้นไม่มีเจตนาอื่นใด นอกจากกลัวตายเท่านั้นแหละ

การเป็นคนไข้ซะเองทำให้เราเข้าใจคนไข้มากขึ้น

เข้าใจคนไข้ที่มาห้องฉุกเฉินตอนตีสาม เพราะท้องเสีย ปวดท้อง แค่โรคลำไส้อักเสบธรรมดาที่ไม่ฆ่าใคร แต่มันสามารถปวด pain score 10/10 ได้จริง ๆ ไม่มีใครอยากเข้าห้องฉุกเฉินหรอกถ้าไม่กลัวตาย 

เข้าใจว่าผู้ป่วยมะเร็งทุกคนต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่งและต้องการกำลังใจจากคนรอบข้างขนาดไหน การต่อสู้กับผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด การต้องระวังตัวเองตลอดเวลาไม่ให้ป่วย แต่ละวันมันไม่เคยง่ายเลย

เข้าใจว่าทุกคำสั่งการรักษาที่เขียนไปมันส่งผลกระทบกับชีวิตคนไข้จริง ๆ หลาย ๆ อย่างมันง่ายกับคนเขียน แต่ลำบากคนทำ เคยไม่เข้าใจว่าทำไมคนไข้เบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ได้ถึงไม่ยอมฉีดยาอินซูลิน จนถึงวันที่ตัวเองโดนฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว เข้าใต้ผิวหนังคล้ายอินซูลิน ยังรู้สึกว่ามันเจ็บ และมันลำบากจริง ๆ 

แม้ว่าตอนนี้โรคจะสงบ กลับมาทำงานเป็นหมอเหมือนเดิมแล้ว สถานะคนไข้ก็ยังต้องติดตัวไปอีกหลายปี เพราะยังต้องเข้ารับการตรวจติดตามเป็นระยะ แน่นอนว่าก็ยังกังวลเหมือนเดิมทุกครั้ง

เราผ่านอะไรมาเยอะมากจริงๆ ทั้งประสบการณ์ที่ผมค่อย ๆ ร่วงเป็นกระจุกจนหมดหัว ปวดกระดูกจนนอนร้องไห้ กินอาหารแล้วไม่รู้รสชาติ จนยอมแพ้ที่จะกิน อ่อนเพลียมากจนเดินได้วันนึงไม่กี่ก้าว พอมาคิดจริง ๆ ก็ไม่ใช่เราคนเดียวหรอก ที่เคยต้องผ่านเรื่องแบบนี้มา

เรารู้สึกว่าตัวเองในฐานะหมอก็มีความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน เราเรียนรู้ที่จะมองคนไข้เป็นมากกว่างานที่ต้องทำให้เสร็จ มีหลายครั้งที่เราเลือกจะนั่งลงข้างเตียงคนไข้ที่เพิ่งรู้ว่าเป็นมะเร็งเพื่อพูดว่า "กินข้าวเยอะ ๆ นะคะ หมอรู้ว่ากินไม่อร่อยหรอก แต่ถ้าร่างกายเราแข็งแรง ผลการรักษาก็จะดีขึ้นนะ" 
 

ข่าวอื่น ๆ

"มะเร็งต่อมน้ำเหลือง" พบบ่อยในคนไทย แนะหมั่นสังเกตตนเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง