แม่เด็กชายวัย 8 เดือนยอมรับว่า ที่ผ่านมาโกหก แต่วันนี้พูดจริง นำลูกไปโยนทิ้งที่คลองท่อ ติดกับแม่น้ำท่าจีน
ทั้งหมดเป็นเพียงคำกล่าวอ้างของแม่เด็กวัย 8 เดือนคนเดียว ขณะนี้ยังไม่มีพยานคนอื่น และยังไม่พบหลักฐานอะไร ที่บ่งชี้ว่า เด็กเคยอยู่ตรงนั้น เช่น เสื้อผ้า คราบเลือด นักอาชญาวิทยาอ่านพฤติกรรมและคำให้การของแม่
"เป็นไปได้ว่า คำให้การของเธอ อาจจะไม่จริง"
ดร.ตฤณ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยา และพฤติกรรมอาชญากร
อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า มีปัจจัยหลายอย่าง ที่ทำให้แม่โกหก และปูมหลังของแม่ อาจจะทำให้สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของเธอ ตื่นตัวมากกว่าคนปกติ
ผลการตรวจทางจิตเวชของแม่เด็ก 8 เดือนไม่มีความผิดปกติทางจิต อาจจะหมายถึงไม่มีความผิดปกติรุนแรง โรคจิตเภท หรือมีอาการไบโพลาร์ แต่อาจจะมีนิสัยโกหก เพราะมาจากการเลี้ยงดูที่เติบโตมา การโกหกอาจทำให้ไม่ถูกรังแก ไม่ถูกกลั่นแกล้งไม่ถูกลงโทษ ไม่ถูกทำร้ายร่างกาย
นักอาชญาวิทยา บอกว่า จากการให้สัมภาษณ์ชีวิตของแม่เด็ก 8 เดือนถูกบูลลี่กลั่นแกล้งมาตั้งแต่เด็ก ที่บ้านมีฐานะยากจน และทุกสิ่งอย่างจะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนหนึ่งกลายเป็นคนที่ไม่พูดความจริง ไม่เป็นตัวเอง ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีคนที่ไว้ใจให้ปรึกษาเรื่องราวต่างๆ
แม้จะมีการตั้งข้อหากับแม่เด็กวัย 8 เดือน ประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แต่ยังไม่พบประจักษ์พยาน อาจารย์ตฤณ จึงยังไม่อยากให้ตัดประเด็นใดทิ้ง ทั้งกรณีที่เด็กยังมีชีวิตอยู่ หรือเสียชีวิต ทางคดี จำเป็นต้องรู้ช่วงเวลาที่เด็กเสียชีวิต เพื่อแจ้งข้อหาให้ชัดเจน
รวมทั้งข้อหาซ่อนเร้น ทำลายศพ ตำรวจต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า อำพรางศพด้วยวิธีใด และไม่สามารถอาศัยคำให้การของนิ่มเพียงคนเดียว ต้องสอบปากคำพยานแวดล้อม ควบคู่กับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์
อ่านข่าวเพิ่ม คำต่อคำ "แม่เด็กชาย 8 เดือน" ขอโทษ-ขอโอกาสสังคม
ผ้าเปื้อนโอกาสฟื้นฟูจิตใจ
ขณะที่ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ระบุว่าว่า พบความผิดปกติและพิรุธจากการให้การของแม่เด็ก ตั้งแต่คำกล่าวอ้างเรื่องชายเสื้อเหลืองมาอุ้มเด็กไป และกลับคำให้การ จนถึงตอนนี้ที่ออกมารับสารภาพ แต่การค้นหาในจุดต่างๆ ยังไม่มีรอยหลักฐาน จึงยังไม่ชัดว่าเป็นคำสารภาพที่จริงหรือไม่
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ระบุอีกว่า หากวิเคราะห์ถึงปูมหลังการกระทำผิดของแม่ จากที่มูลนิธิกระจกเงา และถูกนำเสนอในสื่อสะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันในครอบครัวที่เรียกว่ามาจากความรุนแรงในครอบครัว ที่ส่งผลให้เกิดกระทำต่อบุคคลอื่นและกลายเป็นอาชญากร เคสนี้คล้ายกับคดีของไอช์ หีบเหล็ก ที่มาจากความรุนแรงในครอบครัว
เคสแม่เด็ก 8 เดือนเกิดจากความรุนแรงในครอบครัวที่สะสมมาตั้งแต่เด็ก ไม่มีความรัก ไม่มีสายใยจากครอบครัว ทำให้พฤติกรรมที่สะท้อนออกมาด้วยการโกหก เป็นสัญชาติการเอาตัวรอด
หากถามว่าแม่เด็ก 8 เดือนมีโอกาสเป็นคนดีหรือกลับมาใช้ชีวิตได้หรือไม่ ถ้าสังคมให้โอกาส นักอาชญาวิทยา บอกว่า ในแง่ของคดีต้องรอพยานหลักฐานและการพิสูจน์ว่าเป็นการเจตนาฆ่าหรือจงใจกระทำต่อลูกหรือไม่ ซึ่งยังต้องรอกระบวนการกฎหมาย แต่ในแง่ของสังคมการฟื้นฟูมีโปรแกรมที่ทำให้เยียวจาจิตใจได้ แต่ขึ้นกับผ้าขาวที่เปื้อนผืนนั้นว่าเปื้อนอะไรมาบ้าง
โอกาสฟื้นฟูจิตใจ และการยอมรับของสังคมทำได้ แต่ขึ้นกับผ้าขาวผืนนั้นว่าเปื้อนอะไรมา ถ้าเปื้อนแค่หมึกสีเทา ซักแล้วยังจาง แต่ถ้าเปื้อนหลายสิ่งจนซักไม่ออก คงกลับคืนเป็นผ้าขาวได้ยาก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทม์ไลน์ ปิดฉาก “น้องต่อ” เด็กชาย 8 เดือนหายตัวปริศนา 22 วัน
"นิ่ม" หญิงผู้ไม่มีความฝัน วันที่ไม่เหลือใคร
แจ้ง 3 ข้อหา คุม "แม่น้องต่อ" ฝากขังศาลเยาวชน
ไทม์ไลน์ ปิดฉาก “น้องต่อ” เด็กชาย 8 เดือนหายตัวปริศนา 22 วัน