เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2566 ประชาชนในฝรั่งเศสเดินหน้าประท้วงแผนเลื่อนเกษียณอายุ เนื่องจากไม่พอใจแผนปฏิรูประบบบำนาญของรัฐบาล ภายใต้การนำของเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งคาดว่าจะมีการลงมติร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างเร็วที่สุดในช่วงต้นสัปดาห์หน้า
นโยบายสำคัญของแผนนี้คือการเลื่อนอายุเกษียณออกไป 2 ปี จาก 62 เป็น 64 ปี และเพิ่มจำนวนปีที่ประชาชนต้องจ่ายเงินสมทบเป็น 43 ปี เพื่อจะได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน
การประท้วงล่าสุด กลุ่มผู้ประท้วงในกรุงปารีสหลายสิบคนทุบทำลายรถยนต์จนได้รับความเสียหายอย่างหนัก ท่ามกลางเสียงปืนที่ดังขึ้นหลายนัด หลังจากตำรวจปราบจลาจลยิงแก๊สน้ำตาเพื่อพยายามควบคุมสถานการณ์
ขณะเดียวกันมีกลุ่มคนก่อเหตุชุลมุน ทั้งจุดไฟเผาข้าวของต่างๆ บนท้องถนน พร้อมทั้งขว้างปาสิ่งของและยิงประทัดใส่เจ้าหน้าที่ จนนำไปสู่เหตุปะทะที่เกิดขึ้น มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ประท้วงไปแล้วบางส่วน
เหตุประท้วงที่ลุกลามกลายเป็นความรุนแรงนี้ เกิดขึ้นหลังจากสหภาพแรงงานฝรั่งเศส ร่วมกันจัดประท้วงครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 6 นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
ปิดล้อมโรงกลั่นน้ำมัน-ครูพร้อมใจหยุดงาน
การประท้วงครั้งนี้มีขึ้นในกว่า 260 จุดทั่วประเทศ จนส่งผลกระทบต่อการเดินทางสัญจรของประชาชน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อระบบขนส่งสาธารณะ โรงเรียนและโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่ง โดยเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา รถไฟและรถไฟใต้ดินหลายขบวนต้องยกเลิกการเดินรถชั่วคราว โรงเรียนหลายแห่งต้องปิดทำการเรียนการสอน หลังจากคุณครูกว่า 1 ใน 3 พร้อมใจกันหยุดงาน
ขณะที่ยังไม่แน่ชัดว่าการปิดล้อมโรงกลั่นน้ำมันจะสิ้นสุดลงเมื่อใด โดยโรงกลั่นน้ำมันของ Total Energies บางแห่งไม่สามารถจัดส่งน้ำมันได้ และคาดว่าอาจจะเป็นเช่นนี้ไปอย่างน้อยจนถึงวันที่10 มี.ค.นี้
ด้านตำรวจฝรั่งเศส ระบุว่า การประท้วงรอบนี้มีผู้ประท้วงเข้าร่วมทั่วประเทศ จำนวนระหว่าง 1,100,000 - 1,400,000 คน ขณะที่สหภาพแรงงานแรงงานประเมินว่า อาจมีผู้เข้าร่วมถึง 3,500,000 คน ซึ่งต่อไปจะเดินหน้าเรียกร้องให้ขยายการนัดหยุดงานและจะครอบคลุมการผลิตไฟฟ้าด้วย ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็น พบว่าชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการประท้วงต่อไป
"นักผจญเพลิงเบลเยียม" ประท้วงขาดแรงงาน
ส่วนที่กรุงบรัสเซลล์ของเบลเยียม นักผจญเพลิงกว่า 600 คนเข้าร่วมการประท้วงในประเด็นเกี่ยวกับการขาดแคลนพนักงานและการเพิ่มอายุเกษียณเป็น 67 ปี นับตั้งแต่ปี 2030 ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่
ตัวแทนของสหภาพแรงงานเบลเยียม ระบุว่า นักผจญเพลิงต้องเผชิญกับโรคต่างๆ จากการทำงาน ซึ่งรวมถึงโรคมะเร็ง รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานยังทำให้ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เบลเยียมไม่สามารถส่งความช่วยเหลือไปยังฝรั่งเศสที่เผชิญไฟป่าครั้งใหญ่ได้
ขณะที่หน่วยดับเพลิงในกรุงบรัสเซลล์ ระบุว่า ข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงนั้นถูกต้องและมีเหตุผล และจำเป็นต้องคำนึงถึงความยากลำบากในการทำงานของนักผจญเพลิง รวมทั้งอายุขัยที่ลดลง พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณให้นักผจญเพลิง
อ่านข่าวอื่นๆ
ดัชนีคุณภาพอากาศปักกิ่งทะลุ 200 ติดกัน 3 วันรวด
UA ขึ้นบัญชีดำ! ชายอเมริกันเปิดประตูฉุกเฉิน-ทำร้ายลูกเรือบนเครื่องบิน
ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ประกาศ "ไม่ให้อภัย" ผู้วางยาเด็กนักเรียนหญิงทั่วประเทศ