ในปัจจุบันหลากหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตขยะพลาสติกที่มีมากเกินไปเกินกว่าที่จะรีไซเคิลหรือกำจัดได้อย่างเหมาะสม ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาระยะสั้นไม่ว่าจะเป็น การฝังกลบ หรือ การเผาทำลาย ขณะที่นักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มทั่วโลกกำลังพยายามหาวัสดุทดแทนพลาสติกที่ย่อยสลายได้ง่ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งวัสดุที่กำลังเป็นที่พูดถึงเมื่อไม่นานมานี้ก็คือ “เห็ดรา”
ผลงานวิจัยล่าสุดจากวารสาร Science Advances ได้ชี้ให้เห็นถึงคุณสมบัติของเห็ดราสายพันธุ์หนึ่งที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “F. fomentarius” นั้นสามารถนำไปใช้เป็นวัสดุทดแทนพลาสติกได้หลากหลายประเภทผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเส้นใยของเห็ดสายพันธุ์นี้แข็งแรงและมีน้ำหนักเบา อีกทั้งยังมีการเรียงตัวในลักษณะซ้อนกัน 3 ชั้น ซึ่งในแต่ละชั้นนั้นมีรูปแบบโครงสร้างที่แตกต่างกันไปอย่างโดดเด่น
เริ่มตั้งแต่ชั้นนอกสุดที่มีโครงสร้างแข็งกว่าชั้นอื่น ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นวัสดุที่ป้องกันแรงกระแทกต่าง ๆ ได้ อย่างเช่น แว่นนิรภัยที่ใช้กันลมและฝุ่นละออง ก่อนที่จะตามมาด้วยเส้นใยหนานุ่มบริเวณส่วนกลางของเห็ดราสายพันธุ์นี้ ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายกับหนังสัตว์อย่างน่าประหลาดใจ และชั้นด้านในสุดที่แข็งทื่อราวกับท่อนไม้
ด้วยคุณสมบัติที่น่ามหัศจรรย์ทั้งหมดของ F. fomentarius ทีมนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้จึงได้ทดลองผลิตหูฟังตัวต้นแบบขึ้นมา ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม และถ้าหากเห็ดราสามารถกลายเป็นวัสดุทดแทนพลาสติกได้จริง ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกก็อาจหมดไปอย่างสิ้นเชิง จากคุณสมบัติของเส้นใยเห็ดราที่สามารถย่อยสลายในธรรมชาติที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี อีกทั้งขยะพวกนี้ก็ยังสามารถเปลี่ยนสภาพเป็นปุ๋ยให้กับเห็ดรารุ่นใหม่ ๆ ต่อไปได้
อย่างไรก็ดี การใช้เห็ดรามาแทนพลาสติกนั้นก็ยังคงมีข้อจำกัดด้านต้นทุนและกำลังการผลิตเหมือนกับวัสดุทดแทนอื่น ๆ เนื่องจากยังไม่มีระบบเพาะปลูกเห็ดชนิดนี้ในระดับอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูงได้ ซึ่งย่อมไม่สามารถเข้ามาแข่งขันกับพลาสติกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีราคาถูกกว่าในตลาดโลกได้ในเร็ววัน จนกว่านักวิทยาศาสตร์จะสามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐศาสตร์นี้ได้
ที่มาข้อมูล: The Verge
ที่มาภาพ: Böhringer Friedrich , Synbio Powerhouse
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech