ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อังกฤษประกาศห้ามใช้ "TikTok" บนมือถือของรัฐ

ต่างประเทศ
17 มี.ค. 66
06:49
1,397
Logo Thai PBS
อังกฤษประกาศห้ามใช้ "TikTok" บนมือถือของรัฐ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทางการอังกฤษ สั่งห้ามใช้แอปพลิเคชัน TikTok บนมือถือของรัฐบาลแล้ว ตามสหรัฐฯ อียู และอีกหลายประเทศ แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงมือถือส่วนตัว ที่นักการเมืองหลายคนใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกับคนรุ่นใหม่

อังกฤษประกาศห้ามใช้ TikTok ในโทรศัพท์มือถือของรัฐ โดยให้มีผลทันที ซึ่งโทรศัพท์มือถือของรัฐบาลจะได้รับอนุญาตให้ใช้แอปพลิเคชั่นภายนอก เท่าที่ได้รับการอนุมัติเท่านั้น แต่การปิดกั้นการใช้งานนี้จะไม่มีผลกับเครื่องโทรศัพท์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ โดยความเคลื่อนไหวนี้เกิดจากความกังวลว่า รัฐบาลจีนอาจเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ที่ใช้ในราชการได้ ผ่านทางแอปฯ ดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ ศูนย์ความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติอังกฤษ พิจารณาเกี่ยวกับการแบน TikTok ระหว่างที่สหรัฐฯ แคนาดา เบลเยียม และสหภาพยุโรป ต่างตัดสินใจห้ามการใช้งานแอปฯ ดังกล่าวแล้ว

Rishi Sunak นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เผชิญแรงกดดันในเรื่องนี้มาสักระยะหนึ่ง หลังจากบรรดา ส.ส. อาวุโสหลายราย ต้องการให้อังกฤษเดินตามรอยสหรัฐฯ และอียู ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนในรัฐบาล มักใช้ TikTok เป็นช่องทางในการสื่อสารและเข้าถึงคนรุ่นใหม่

ด้าน TikTok ระบุว่า ผิดหวังกับความเคลื่อนไหวดังกล่าวของรัฐบาลอังกฤษ หลังจากเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนงานต่าง ๆ ในรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มทยอยสั่งห้ามใช้แอปฯ นี้ในมือถือของรัฐ ตามมาด้วยอียูเมื่อเดือนที่แล้ว รวมทั้งแคนาดา เบลเยียม อินเดีย

แม้ TikTok จะยืนยันว่า ไม่มีการให้ข้อมูลใด ๆ แก่ทางการจีน แต่ตามกฎหมายข่าวกรองของจีน บริษัทต่าง ๆ จะต้องให้การช่วยเหลือรัฐบาลอย่างเต็มที่หากมีการร้องขอ

ยอดดาวน์โหลด 3,500 ล้านครั้งทั่วโลก

TikTok มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 3,500 ล้านครั้งทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ และความนิยมเกิดขึ้นจากรูปแบบของแอปฯ ที่้เน้นการสร้างและนำเสนอวิดีโอสั้น ๆ พร้อมเพลงและฟิลเตอร์ต่าง ๆ

แต่องค์ประกอบสำคัญ คือ algorithm ที่มีประสิทธิภาพในการเลือกสรรวิดีโอให้เหมาะแก่ความสนใจของผู้ใช้งานแต่ละคน และการทำงานได้เป็นอย่างดีของ algorithm นี้ต้องอาศัยการเก็บข้อมูลเพื่อเรียนรู้ผู้ใช้แต่ละรายให้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นอายุ ที่อยู่ อุปกรณ์ที่ใช้ หรือแม้กระทั่งจังหวะการพิมพ์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะติดตามเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้แอปฯ TikTok เองเท่านั้น แต่ยังติดตามการค้นข้อมูลหรือเข้าถึงเว็บไซต์ต่าง ๆ ทั่วไปด้วย ซึ่งการเก็บข้อมูลเหล่านี้ของ ByteDance บริษัทที่เป็นเจ้าของ TikTok ซึ่งตั้งอยู่ในจีน ทำให้ชาติตะวันตกกังวลว่าจะมีการแทรกแซงจากรัฐบาลจีนเกิดขึ้น

ข้อกังวลดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากเหตุการณ์ช่วงก่อนหน้านี้ ที่มีรายงานว่าสื่อมวลชนจากชาติตะวันตกจำนวนหนึ่งถูกพนักงานของ ByteDance ติดตามข้อมูล แต่ทางบริษัทระบุว่าได้ไล่พนักงานเหล่านี้ออกแล้ว รวมทั้งมีกรณีการเผยแพร่วิดีโอของ TikTokker ในสหรัฐฯ ที่วิจารณ์รัฐบาลจีนกรณีเกี่ยวกับชาวมุสลิมอุยเกอร์ และวิดีโอนั้นถูกลบหายไป ซึ่ง TikTok ระบุว่ากรณีนี้เกิดจากความผิดพลาด

ชี้สหรัฐฯ บีบให้ขายกิจการพ้นบริษัทจีน

ขณะที่ความเคลื่อนไหวทางฝั่งสหรัฐฯ TikTok เปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ขู่ว่า TikTok จะต้องขายกิจการ ที่มี ByteDance เป็นเจ้าของ ให้พ้นจากเงื้อมมือของบริษัทในจีน ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องเผชิญมาตรการห้ามใช้งานแอปฯ ดังกล่าวในสหรัฐฯ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งโฆษกทำเนียบขาวยังไม่เปิดเผย หรือยืนยันข้อมูลดังกล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง