เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 โดยมีรายละเอียดว่า
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
พระราชกำหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 36 มาตรา 37 และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระท าได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้สุจริตซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียไปซึ่งทรัพย์สิน โดยผ่านโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้หลอกลวงได้โอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดดังกล่าวนั้นผ่านบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลอื่นต่อไปเป็นทอด ๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อปกปิดหรืออำพรางการกระทำความผิด
แต่ละวันมีผู้ถูกหลอกลวงจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก สมควรมีมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมประเภทนี้ให้หมดไปโดยเร็ว อันเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการตราพระราชกำหนดนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวแสดงความยินดีกับคนไทยทุกคน หลังพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.2566 เป็นต้นไป ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายสำคัญที่รัฐออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ และปัญหาอาชกรรมทางออนไลน์ทั้งหมด ทำให้ปัญหาจะลดลงอย่างแน่นอนหลังจากนี้
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า หากประชาชนถูกหลอกลวงทางออนไลน์ให้รีบแจ้งไปที่ธนาคารโดยตรง เพื่อที่ธนาคารจะได้ระงับบัญชีไม่ให้เงินถูกโอนออกไปเป็นทอด ๆ ซึ่งหลังจากนี้ธนาคารจะมีอำนาจระงับบัญชีต้องสงสัยได้ทันที จากเดิมต้องรอไปแจ้งความก่อนถึงจะระงับบัญชีได้
ส่วนบัญชีม้า และเบอร์มือถือม้า ที่รับจ้างเปิดให้ผู้ก่อเหตุนำไปใช้หลอกลวงประชาชน หลังจากนี้จะมีความผิดทางกฎหมายมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 300,000 บาท ดังนั้นประชาชนที่กำลังทำความผิดให้ไปแจ้งยกเลิกบัญชีผิดกฎหมายเหล่านี้โดยด่วน เพราะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายนี้ ได้ไม่คุ้มเสีย รับจ้างได้เงินเพียง 500-2,000 บาท แต่ต้องมาโดนปรับ 300,000 บาท และจำคุกอีก 3 ปี
อ่านรายละเอียดเพิ่ม พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566