ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดสาเหตุคนจีนปักหมุดเรียนอีสานยอดนักศึกษาพุ่ง

สังคม
19 มี.ค. 66
12:41
5,729
Logo Thai PBS
เปิดสาเหตุคนจีนปักหมุดเรียนอีสานยอดนักศึกษาพุ่ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้ภาคอีสานจะไม่ใช่เป้าหมายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ถือเป็นเมืองหน้าด่านการศึกษาสำคัญในหลายจังหวัด และอีสานกำลังจะกลายเป็นหมุดหมายการเรียนรู้ของนิสิต-นักศึกษา ชาวต่างชาติหลากหลายประเทศ ตบเท้าเข้ามาเรียนมากขึ้น ไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร

Ms.Chunwen wen นิสิตจีนชั้นปีที่ 4 วัย 22 ปี แต่เพื่อนคนไทยและอาจารย์ เอกหมอลำ สาขาวิชาดนตรีพื้นบ้าน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามเรียกเธอว่า “แพรวา” เธอบอกกับทีมข่าวไทยพีบีเอสด้วยความภาคภูมิใจ ว่ากำลังจะสอบจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีเร็ว ๆ นี้ เพราะการเรียนเอกหมอลำไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนจีน ที่ไม่ได้มีพื้นฐานภาษาไทยและภาษาอีสานมาก่อน

ตลอด 4 ปี ในรั้วเหลือง-เทา แพรวาพร้อมกับหมอแคนคู่ใจ ได้แสดงฝีมือให้เพื่อนๆในสาขาและต่างสาขาได้ชื่นชม จากการที่ฝึกร้องหมอลำทุกวัน สิ่งสำคัญต้องจำเนื้อร้อง ความหมายของแต่ละเพลงให้ขึ้นใจด้วย หลายคนที่ได้ฟังสำเนียง และการฟ้อนรำ ของแพรวาเป็นครั้งแรก ผ่านการร้องเพลงหมอลำ อดชื่นชมในความสามารถของเธอไม่ได้เช่นเดียวกับทีมข่าวไทยพีบีเอส ที่เพลิดเพลินไปกับเสียงของของเธอ การฝึกฝนภาษาไทย เรียนร้องหมอลำจากอาจารย์ ทำให้แพรวาสามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างเชี่ยวชาญพูด-ฟังได้มากถึง 80 % และสามารถร้องหมอลำได้มากถึง 10 กลอนลำ

หนูจะใช้วิธีฟังซ้ำ ๆ และอัดเสียงร้องตาม ให้อาจารย์ช่วยสอน เขียนเนื้อร้องเป็นภาษาจีน เพื่อร้องให้ถูกต้อง

ก่อนตัดสินใจจะมาเรียนภาคอีสาน แพรวาบอกกับเราว่าแทบจะไม่รู้จักจังหวัดมหาสารคาม อยู่ส่วนไหนของประเทศไทย เพราะคนจีนส่วนใหญ่หากเดินทางมาไทยจะชอบไปท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และเธอก็ชอบใช้เวลาช่วงปิดเทอม เดินทางไปเที่ยวในไทยบ่อยครั้ง แต่เพราะได้รับคำแนะนำจากอาจารย์จากประเทศจีน ก็ทำให้ตัดสินใจเลือกเรียนในระดับปริญญาตรี เมื่อเรียนจบแล้วยังวางแผนต่อจะเรียนคณะมนุษยศาสตร์ด้านภาษาไทย เพราะอยากจะกลับไปเป็นครูสอนภาษาไทยที่ประเทศจีน

หนูใช้เวลาสามเดือน ในการเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อนๆหลายคนชมภาษาไทยหนูดีมาก หนูภูมิใจที่ได้เรียนที่นี่

แพรวายังแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนที่จีน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เธอบอกว่านักเรียนจีนทุกคนเรียนหนัก ต่อเนื่องหลายชั่วโมงตั้งแต่ 08.00 - 22.00 น มีการแข่งขันกันสูง แต่การเรียนในไทยสบาย ไม่รู้สึกกดดัน เป็นอิสระ ไม่เร่งรีบเหมือน ส่วนค่าใช้จ่ายค่าครองชีพ แม้แต่ค่าเทอมก็ถูกกว่าจีน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่คนจีน ปักหมุดมาเรียนที่อีสาน และยังแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการสำรวจของไทยพีบีเอสพบว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เตรียมความพร้อมด้านหลักสูตร และการรองรับคนจีน เพราะขณะนี้มีคนคนจีนมากเรียนมากถึง 845 คน จากนิสิตต่างจากทั้งหมด 932 คน มากกว่านิสิตต่างชาติประเทศอื่น ๆ

คนจีนปักหมุดเรียนภาคอีสานยอดพุ่ง 

MS. Wang Qinglian นักข่าวสาวจีน วัย 39 ปี เพื่อนๆตั้งชื่อไทยให้เธอว่า “ใบบัว” เธอเปิดใจกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า เดินทางมาจากมณฑลเสฉวน ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อมาศึกษาต่อ และเลือกเรียนสาขา Fine and Applied Arts Research and Creation คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.มหาสารคาม

เพราะได้คำแนะนำจากเพื่อนที่เคยมาเรียนที่นี่ เขาบอกว่ามาเรียน ม.สารคาม มีสภาพแวดล้อม อาจารย์ เพื่อน และวัฒนธรรมดี ทำให้เธอตัดสินใจมาเรียน และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ

อาชีพของฉัน ต้องเดินทางพบปะผู้คนมากมาย ฉันมีความสนใจด้านวัฒนธรรมมาก ๆ จึงอยากเรียนรู้วัฒนธรรมจากหลายประเทศ เพื่อเพิ่มความรู้ให้กับตัวเอง

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มีนิสิตจีนมากเป็นอันดับ 1 จำนวน 336 คน ผศ.ดร.พีระ พันลูกท้าว คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ ระบุว่า ม.มหาสารคาม ได้ความสนใจจากคนจีน จากคนที่เคยมาเรียนในไทย เป็นการบอกปากต่อปาก ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ มาเรียนด้านศิลปะมากถึงร้อยละ 70 เพราะการเรียนศิลปะขั้นสูงในจีนยังไม่ค่อยมี นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังทำ MOU กับสถาบันขงจื่อ เพื่อรับนิสิตจีนเข้ามาศึกษาต่อ ทำให้เป็นการการันตีได้ว่า คนที่จีนที่เข้ามาต้องการเข้ามาศึกษาต่อจริง ๆ

จำนวนที่นั่งนิสิตจีนในห้องเรียนที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้มหาวิทยาลัยเตรียมความพร้อมทั้งการหาหอพักในเครือข่าย บริการไปรับ-ส่งที่สนามบิน อำนวยความสะดวก เพื่อสร้างความมั่นใจว่ามาเรียนที่นี่จะอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน

มีเคสหนึ่งเหมารถแท็กซี่ มาจากสนามบินสุวรรณภูมิมาถึงมหาสารคาม เขาบอกว่าเกรงใจจึงมาเอง เลยให้ข้อมูลว่าถ้าคุณบินมาแล้ว เรามีเจ้าหน้าที่ไปรับ

ตลาดนักศึกษาจีนความอยู่รอดมหาวิทยาลัยไทย

มหาวิทยาลัยในภาคอีสานประเมินว่าหลังจากนี้ จะมีนิสิต-นักศึกษาจีนเพิ่มมาก เพราะการเดินทางสะดวกมากขึ้น จากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงจีน-ลาว รศ.ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า นับเป็นโจทย์ท้าทายวงการการศึกษาไทย ในการเตรียมพร้อมรองรับตลาดนักศึกษาจีน มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัว ไม่ได้มองการศึกษาแค่คนไทยอีกต่อไป ต้องมองในต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อนบ้านใกล้เคียง ต้องจัดการศึกษาปรับหลักสูตรเป็นนานาชาติมากขึ้น หลักสูตรร่วมกันกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีนหรือในต่างประเทศ มาเรียนร่วมกับประเทศไทยด้วย ต้องมีการปรับตัวค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว คือสิ่งที่เรามองว่าทุกมหาลัยต้องปรับตัวรองรับสังคมโลกการศึกษา

จำนวนนักศึกษาลดลงเป็นสิ่งที่หลายมหาวิทยารับทราบมาตลอด หลายสถาบันก็มีการเตรียมพร้อมที่จะรับนิสิตต่างชาติเข้ามามากขึ้น เช่น ม.มหาสารคาม ก็ไปออกโรดโชว์ในกัมพูชา เวียดนาม เพราะเรามองว่าในอนาคตถ้าทุกมหาลัยต้องเตรียมความพร้อมขยายตลาดการศึกษากว้างมากขึ้น

ทุกวันนี้เราไม่สามารถที่จะบังคับใครให้มีลูกหลานมากขึ้น เพราะไม่สามารถควบคุมได้ แต่สิ่งที่เราสามารถจัดการได้ คือวางระบบการจัดการศึกษาของมหาลัย ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและหลักสูตรที่ตอบสนอง และการจัดการเรียนการสอน

นอกจากนี้การที่มีนิสิตต่างชาติเข้ามาจะมีประโยชน์ต่อการทำวิจัยของอาจารย์ด้วยอาจารย์ก็จะมีนิสิตในระดับบัณฑิตศึกษา มาช่วยในการทำวิจัย เพราะการทำวิจัยเป็นเรื่องใหม่ นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ของอาจารย์ คนที่ได้ประโยชน์ คือ นิสิตจีนที่มาเรียนจะได้เรียนรู้กระบวนการทำงานวิจัย จะได้เรียนรู้จากอาจารย์ในเมืองไทยในขณะเดียวกันนิสิตคนไทยที่เรียนชั้นเดียวกัน ก็จะได้เรียนรู้ประโยชน์จากการใช้ภาษาอังกฤษ และวัฒนธรรมเขาด้วย ในขณะเดียวกันอาจารย์ก็ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆต้องปรับตัว

นักศึกษาจีนส่งผลดีต่อจัดอันดับมหาวิทยาลัย

การแย่งชิงตลาดนักศึกษาจีนในไทย จะส่งผลดีกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดให้นิสิตในระดับปริญญาเอก ต้องทำงานวิจัย และต้องตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ มี Scopus สูง Q1 -Q2 การตีพิมพ์ในระดับสูงก็จะมีการถูกอ้างอิงในแหล่งข้อมูลอื่น ๆ คือ หัวใจสำคัญ จะทำให้มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงมากขึ้นด้านความเป็นเลิศทางการศึกษาด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง