วันนี้ (21 มี.ค.2566) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสุขภาพผู้ที่มีโอกาสสัมผัสวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ว่า ได้รับรายงานจากนพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข จ.ปราจีนบุรี ถึงการตรวจตรวจเลือดคนงานโรงงานถลุงเหล็กที่ดำเนินการหลอมวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในอ.กบินทร์บุรี จำนวน 70 คน เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพของพนักงาน
พบว่าค่าเม็ดเลือดขาว ค่าเกล็ดเลือด ค่าการทำงานของตับและไตเป็นปกติ โดยนัดตรวจซ้ำอีกครั้งในวันที่ 5 เม.ย.นี้ ส่วนการตรวจหาซีเซียมในปัสสาวะ โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยังต้องรอผลในอีก 2 สัปดาห์
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ยังคงเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งการตรวจสุขภาพ ในคนงานโรงงานถลุงเหล็ก รวมทั้งประชาชนทั่วไปใน จ.ปราจีนบุรี และหากมีข้อมูลผู้สัมผัสเพิ่มเติม หรือมีการกระจายของซีเซียม-137 ออกจากพื้นที่ ก็จะขยายวงในการเฝ้าระวังเพิ่มเติม
ทั้งนี้ อาการแสดงที่พบจากการสัมผัสซีเซียม-137 มีทั้งทางผิวหนังเช่น เป็นแผลตุ่มน้ำพอง ผิวหนังอักเสบ อาการทั่วไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีค่าเม็ดเลือดขาวผิดปกติ ดังนั้น จึงมีการเฝ้าระวังใน 3 กลุ่มอาการนี้
อ่านข่าวเพิ่ม ผู้ว่าฯปราจีนจ่อสั่งปิดชั่วคราวโรงงานหลอมซีเซียม-137
คพ.ช่วยตรวจวัดรังสีซีเซียม-137 รอบชุมชน
ต่อมาเวลา 14.10 น. ที่ เจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เข้าตรวจวัดค่ารังสี บริเวณหน้าโรงงานประมาณ 15 นาที โดยระบุว่ายังพบความผิดปกติของสารซีเซียม-137 โดยวันนี้ ได้ลงวัดค่าในชุมชน 4 จุดรอบโรงหลอมด้วย แต่ไม่พบความผิดปกติ
ลงตรวจสอบชุมชนในพื้นที่รอบโรงงานหลอมเหล็กตั้งแต่ระยะ 50-100 เมตรและขยับออกไปเรื่อยๆตามโมเดลเบื้องต้นวัดใน 4 ชุมชน และจะมีการรายงานผ่านเพจคพ.
NGO ออกแถลงการณ์ซีเซียม-137 หาย
ขณะที่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกันออกแถลงการณ์ว่าด้วยการกำกับดูแล กรณีซีเซียม-137 สูญหายจากโรงไฟฟ้า จ.ปราจีนบุรี โดยห่วงซ้ำรอยโคบอลต์-60 เหตุการณ์ทั้งสองนี้เกิดขึ้นห่างกันกว่า 20 ปี แต่ยังคงสะท้อนปัญหาในลักษณะเดียวกัน เรียกร้องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังนี้ให้
- ปส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตรวจสอบการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในสถานที่ที่มีเบาะแสว่าอาจได้รับซีเซียม-137 ตรวจสอบการปนเปื้อนทั้งในสิ่งแวดล้อมและของเสีย
- หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและรอบด้าน แล้วเปิดเผยความจริงต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส
- เมื่อมีการตรวจสอบและพบว่ามีการกระทำความผิด หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดหรือละเมิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด และดำเนินการให้เกิดการรับผิดชอบต่อความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
- หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องมีการสรุปบทเรียน จากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น และทบทวนช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำรอยขึ้นอีก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจงปมโซเชียลใช้ "ผ้าใบ" คลุมฝุ่นแดงซีเซียม-137
ปส.วิเคราะห์ดีเอ็นฝุ่นแดงเทียบ "ซีเซียม-137" หายเอาผิดทางคดี