วันนี้ (22 มี.ค.2566) นายบุญเหลือ ขุนพรม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เปิดเผยว่า ส่งหนังสือถึงนายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงการต่อสัญญากับบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน)
หลังมีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใด ขสมก. ต้องเร่งต่อขยายสัญญาให้เอกชนโฆษณาบนรถโดยสารปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) ล่วงหน้าอีก 5 ปี จากเดิมสิ้นสุดปี 2570 แต่ขยายออกไปถึงปี 2575 และ ขสมก. มอบหมายให้ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถเอกชนร่วมบริการ รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการเยียวยาสิทธิโฆษณาบนรถเมล์แอร์ กับบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2565 ให้ขยายสัญญาติดตั้งป้ายโฆษณาทั้งภายในและภายนอกรถเมล์แอร์ ขสมก. 1,500 คันออกไปอีก 5 ปี ก่อนที่ “สัญญาหลัก” จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.2570 ขยายสัญญาออกไปสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.2575 ทำให้พนักงานและสมาชิกสหภาพแรงงาน ขสมก. มีข้อสงสัยและคำถามจำนวน 5 ประเด็น ดังนี้
1. ทำไมต้องรีบต่อขยายสัญญาล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่สัญญาหลักสิ้นสุด 30 มิ.ย.2570 ยังมีเวลาเหลืออีก 4 ปี การนำทรัพย์สินหน่วยงานของรัฐไปจัดหาประโยชน์ตามหลักการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุของกรมบัญชีกลาง ควรเปิดโอกาสให้แข่งขันอย่างเป็นธรรม เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสและเท่าเทียมทุกขั้นตอนหรือไม่
2. มีข้อสังเกตว่า รักษาการผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการเยียวยาฯ กับบริษัท แพลน บีฯ ตามหนังสือที่ สบก.344/2565 ลงวันที่ 8 พ.ย.65 นั้น นายสถาพร เพชรกอง รักษาการงผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย มีอำนาจลงนามหรือไม่ เนื่องจากสัญญาดังกล่าวนี้มีมูลค่าเกินกว่า 20 ล้านบาท และระยะเวลาสัญญาเกิน 3 ปี ตามระเบียบ ขสมก. ต้องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) พิจารณาอนุมัติก่อนดำเนินการหรือไม่
ซึ่งพนักงาน ขสมก. และสมาชิกสหภาพแรงงานสงสัยว่า การทำบันทึกข้อตกลงฯ ต่อขยายอายุสัญญาให้บริษัท แพลน บีฯ ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด ขสมก. หรือยัง เนื่องจากไม่มีความชัดเจนว่ามีการบรรจุเรื่องนี้เข้าสู่วาระการพิจารณา และมีอยู่ในบันทึกการประชุมบอร์ด ขสมก. หรือไม่ ถ้ามีขอให้ ขสมก. เปิดเผยให้สหภาพแรงงานทราบด้วย
3. การต่อขยายสัญญาฯ ให้เอกชนล่วงหน้าอีก 5 ปี โดยผู้บริหาร ขสมก. ให้เหตุผลว่าเป็นการเยียวยาสิทธิโฆษณาบนรถเมล์แอร์ หลังจากเอกชนได้รับผลกระทบจากการสูญเสียรายได้ในช่วงที่ผ่านมา ไม่แน่ใจว่าเยียวยาความเสียหายเรื่องอะไร ถ้าเยียวผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด ที่ประชุมบอร์ด ขสมก. เคยพิจารณาเยียวยาผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญากับ ขสมก. ไปทั้งหมดแล้วก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ ร้านค้า แผงขายของ ถ้าอ้างว่าเยียวยากรณีหยุดเดินรถเพื่อซ่อมบำรุงรถเมล์แอร์นั้น ก็มีการบรรจุไว้ในแผนการซ่อมบำรุงตามเอกสารแนบท้ายสัญญาฯ อยู่แล้ว
เนื่องจากก่อนทำสัญญาฯ ขสมก. มีรถเมล์แอร์ต้องส่งเข้าซ่อมบำรุงประมาณ 320 คัน ตามแผนซ่อมบำรุงได้กำหนดให้นำรถเมล์สลับกันเข้าไปซ่อมบำรุงครั้งละ 10 คันขึ้นไป เฉลี่ยคันละ 3 วัน รวมแล้วใช้เวลาซ่อมบำรุง 2-3 เดือน หากหยิบยกผลกระทบเรื่องซ่อมบำรุงรถ มาเป็นเหตุผลเยียวยาเอกชนโดยต่อสัญญาล่วงหน้าให้อีก 5 ปี อาจมีน้ำหนักไม่เพียงพอ
และ 4.สหภาพแรงงาน ขสมก. ติดใจสงสัย เรื่องการคิดคำนวณมูลค่าความเสียหาย เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาต่อสัญญาล่วงหน้าอีก 5 ปี มีหลักในการคำนวณอย่างไร เยียวยามากเกินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ไม่มีใครทราบ หากคิดคำนวณจากค่าผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะในส่วนที่ ขสมก. ได้รับจากการต่อสัญญา 5 ปี โดยนำค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีสุดท้าย (ปี 70) ที่ ขสมก.จะได้รับจากบริษัท แพลน บีฯ คันละ 9,004 บาท/เดือน (ตามสัญญาหลัก) เป็นฐานในการคำนวณ กับจำนวนรถเมล์แอร์ที่ใช้ติดป้ายโฆษณาประมาณ 1,135 คัน
แต่ละเดือน ขสมก. จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากบริษัท แพลน บีฯ ประมาณ 10.22 ล้านบาท รวมสัญญาที่ต่อขยาย 5 ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 613 ล้านบาท รวมกับอัตราค่าตอบแทนที่บริษัทแพลน บีฯ จ่ายเพิ่มให้อีก 3% และค่าตอบแทนล่วงหน้าที่ต้องชำระ ณ วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ อีก 7,023,174 บาท คิดเป็นมูลค่าไม่น่าจะเกิน 700 ล้านบาท
สรุปการต่อขยายสัญญาให้เอกชนล่วงหน้า ก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุด สหภาพแรงงาน ขสมก. ติดใจสงสัย ฝากคำถามไปถึงบอร์ดและผู้บริหารของ ขสมก. ว่ารู้ได้อย่างไร การดำเนินการดังกล่าวนี้ ขสมก. ได้รับประโยชน์สูงสุด ทำไมต้องรีบ ไม่รอสัญญาสิ้นสุดก่อนแล้วเปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน ในอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยอาจดีขึ้นกว่านี้ ธุรกิจโฆษณาขยายตัวเพิ่มขึ้น รายได้ที่ ขสมก. ควรจะได้รับอาจมากกว่านี้ก็เป็นไปได้ ทำไมต้องรีบต่อสัญญากันล่วงหน้า
นอกจากนี้เห็นว่า การบริหารองค์การ ไม่มีการกระจายอำนาจ ให้กับรองบริหารหรือผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดิน และผู้อำนวยการเขตการเดินรถ ทำให้การดำเนินงาน ขสมก. ล่าช้าเกินสมควร อีกทั้งจัดทำสัญญาต่าง ๆ เช่น สัญญาเหมาซ่อม หรือสัญญาโฆษณาดังกล่าวควรเปิดประมูลแข่งขันกัน เพื่อความโปร่งใส และประโยชน์สูงสุดของ ขสมก. อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงาน ขสมก. ขอให้องค์การเปิดเผยข้อเท็จจริงให้กับสหภาพแรงงานและพนักงาน ขสมก. ทราบภายใน 7 วัน มิฉะนั้น สหภาพแรงงานมีความจำเป็นต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
อ่านข่าวอื่นๆ
วิน จยย.-แท็กซี่ไฟฟ้าบุกคมนาคมทวงถามแก้ไขปัญหา "รถป้ายขาว"
พาณิชย์ยันคำสั่งซื้อ "มะยงชิด" กลับมาแล้ว-นำขายผ่านรถ Mobile 100 จุด