วันนี้ (22 มี.ค.2566) ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี แถลงข่าว “ซีเซียม (Cesium, Cs-137) กับยาต้านพิษ พรัสเซียนบลู (Prussian blue)” ถึงความรุนแรงของซีเซียม-137 ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีผลต่อร่างกาย จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ปริมาณของรังสีที่ได้รับ ระยะเวลาที่ได้รับ ส่วนของร่างกายที่ได้รับ
โดยจะแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ผลในระยะสั้น ต่อเมื่อมีการสัมผัสทางผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นแดง คัน บวม จะมีอาการ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หลังจากนั้นอาการจะหายไปชั่วคราวประมาณ 1-3 สัปดาห์ ส่วน ผลระยะยาว จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง
กรณีที่ประชาชนกังวลเรื่องความรุนแรงของซีเซียม-137 จนนำไปสู่การค้นหาข้อมูลตามอินเตอร์เน็ต จนพบข้อมูลเรื่องของยาปรัสเซียนบลู ที่ใช้ต้านพิษซีเซียม-137 ทางศูนย์พิษวิทยาชี้แจงว่า
เมื่อ 20 ปีก่อนมีการสำรองยาปรัสเซียนบลูไว้ แต่ไม่เคยต้องใช้ จนยาหมดอายุ
จนเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางศูนย์พิษวิทยาได้หารือร่วมกับ อย. เห็นว่าควรเตรียมพร้อมไว้ แต่ย้ำว่าสถานการณ์ประเทศไทยขณะนี้ยังไม่จำเป็นใช้ เพียงแต่ต้องเตือนประชาชน
อย่าซื้อปรัสเซียนบลูรับประทานเอง เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ การรักษาด้วยยาชนิดนี้ควรใช้ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์
สำหรับ ยาปรัสเซียนบลู จะใช้ในการรักษาภาวะพิษจากซีเซียม-137 จะมีข้อบ่งชี้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีการปนเปื้อน ซีเซียม-137 ภายในร่างกายเท่านั้น หากได้รับทางผิวหนังหรือปนเปื้อนตามเสื้อผ้าจะไม่สามารถรักษาได้
กลไกการออกฤทธิ์หลัก คือ ปรัสเซียนบลู จะจับกับ ซีเซียม-137 ในลำไส้ ป้องกันไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ลดการดูดกลับของ ซีเซียม-137 ส่วนผลข้างเคียงสามารถเกิดขึ้นได้ เช่น ท้องผูก หรือ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ สีอุจจาระ เยื่อบุ หรือฟัน เปลี่ยนสีได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ปส.เตือน "ซีเซียม-137" สุดอันตราย อย่าผ่าท่อ ปูพรมร้านของเก่า
ยืนยันถูกหลอมแล้ว แท่งเหล็กบรรจุ "ซีเซียม-137" ตรวจเลือดกลุ่มเสี่ยง