เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2566 กรณีที่สื่อต่างประเทศ รายงานว่า เกิดเหตุนักท่องเที่ยวฮ่องกงได้รับบาดเจ็บจากการเล่นบันจี้จัมพ์ โดยเชือกขาดขณะกระโดดลงมา นักท่องเที่ยวคนนี้อยู่สูงจากน้ำ 5 เมตร ตกกระแทกน้ำ ส่วนระยะกระโดดหอสูง 30 เมตร ก่อนได้รับการช่วยเหลือและถูกนำส่งโรงพยาบาลและต่อมาแพทย์ได้อนุญาตให้กลับบ้านได้
นักท่องเที่ยวบอกกับสื่อว่า หลังเกิดอุบัติเหตุเงินชดเชยไม่เพียงพอต่อค่ารักษา สูญเสียรายได้จาการหยุดงานพักรักษาตัว พร้อมเขียนร้องเรียนผู้ประกอบการ แต่เบื้องต้นได้ทำประกันภัยการเดินทางไว้เคลมได้ 220,000 บาท หลังจากที่กลับมายังฮ่องกง
ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นสถานที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาเล่นบันจี้จัมพ์ พบกับ นายณัฐพล ผู้ดูแลเครื่องเล่นบันจี้จัมพ์ โดยเล่าให้ฟังว่า ปกติก่อนจะเล่นได้ต้องชั่งน้ำหนัก เซ็นเอกสารยินยอม จากนั้นก็สวมอุปกรณ์ให้เรียบร้อย แล้วจึงพาขึ้นไปด้านบนหอที่ใช้กระโดด
หลังเกิดเหตุในวันดังกล่าว แพทย์แจ้งว่าไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด ทางตนเองก็มีใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาล ยืนยันว่า ได้คุยกับนักท่องเที่ยวแล้วและทางฝ่ายบัญชีก็ได้ให้เงินทำขวัญไปจนเป็นที่พอใจ พร้อมกันนี้ก็อยากขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย
สำหรับการเล่นบันจี้จัมพ์ หากดูข้อกฎหมายแล้วมีการระบุถึงกิจกรรมเชิงผจญภัยที่เข้าตามคำนิยามเครื่องเล่นของกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมเครื่องเล่น พ.ศ. 2558 ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า โครงสร้างประกอบและมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดคือ มีการเคลื่อนที่ ที่ให้ผู้เล่นเครื่องเล่นเคลื่อนที่ได้โดยมีความเร็วไม่น้อยกว่า 5 เมตรต่อวินาทีหรือมีความสูงจากระดับพื้นที่ตั้งของเครื่องเล่นถึงระดับพื้นที่สูงที่สุดที่ผู้เล่นเครื่องเล่นขึ้นไปเพื่อเล่นเครื่องเล่นไม่น้อยกว่า 2 เมตร 50 เซนติเมตร หรือมีขนาดกำลังของเครื่องกลไม่น้อยกว่า 25 แรงม้า หรือมีส่วนที่ต้องใช้น้ำในการเล่นเครื่องเล่นโดยมีความลึกของระดับน้ำไม่น้อยกว่า 0.8 เมตร
ในส่วนของมาตรการเพื่อความปลอดภัยนั้น ยังไม่มีการกำหนดเรื่องการขออนุญาตในการประกอบธุรกิจ แต่มีการกำหนดถึงการขออนุญาตในการก่อสร้าง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายเครื่องเล่นนั้น ที่ต้องยื่นขอต่อนายทะเบียน
เป็นการกำหนดโดยมุ่งเน้นไปในส่วนของโครงสร้างของเครื่องเล่นมีการตรวจสอบหลักการทางวิศวกรรมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งคุณสมบัติของบุคคลที่ควบคุมเครื่องเล่นหรือดูแลความปลอดภัยก็กำหนดรายละเอียดไว้
แต่ที่น่าสนใจคือจากคำนิยามข้างต้นจะหมายถึงเฉพาะกิจกรรมเชิงผจญภัยบางกิจกรรมที่ถูกนำไปสร้างในสวนสนุกเท่านั้น จึงอาจมีกิจกรรมเชิงผจญภัยอีกหลายชนิดที่ไม่อยู่ภายใต้กฎกระทรวงนี้