ทางการอินเดียงัดมาตรการเข้มข้นออกมาบังคับใช้ในรัฐปัญจาบ รวมถึงการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตติดต่อกัน 4 วัน นับตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับประชาชนกว่า 30 ล้านคนทั่วรัฐ และเพิ่งผ่อนคลายคำสั่งนี้ในบางพื้นที่ เนื่องจากไม่ต้องการให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีใช้ช่องทางออนไลน์เผยแพร่ข่าวปลอม ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงและทำลายความสงบสุข
ขณะที่ตำรวจหลายพันนายระดมกำลังลงพื้นที่ตรวจค้นและไล่ล่าตัว "อัมริตพาล ซิงห์" ภายในหมู่บ้านที่เมืองอัมริตสาร์ ซึ่งทางการอินเดียเปิดปฏิบัติการนี้มาตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังหาตัวแกนนำชาวซิกข์วัย 30 ปีไม่เจอ
ปฏิบัติการดังกล่าวจุดกระแสความไม่พอใจรัฐบาลอินเดียเป็นวงกว้างในหมู่ชาวซิกข์ โดยมีรายงานว่ากลุ่มผู้สนับสนุนหลายร้อยคนออกมาเดินขบวนประท้วงเรียกร้องอิสรภาพให้กับ "ซิงห์" ขณะที่ตำรวจระบุว่าจับกุมตัวผู้ประท้วงที่พยายามก่อความไม่สงบและละเมิดกฎหมายในปัญจาบไปแล้วมากกว่า 110 คน
เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซิงห์กับกลุ่มผู้สนับสนุนพกอาวุธบุกสถานีตำรวจชานเมืองอัมริตสาร์ หลังจากหนึ่งในคนสนิทถูกจับกุมตัวในข้อหาทำร้ายร่างกายและพยายามลักพาตัว ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้มีตำรวจได้รับบาดเจ็บหลายนายและกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ทางการตัดสินใจประกาศการตอบโต้
แม้เรื่องนี้จะเป็นข่าวดัง แต่ก่อนหน้านี้ "อัมริตพาล ซิงห์" กลายเป็นที่รู้จักนานหลายเดือน หลังจากก้าวขึ้นเป็นผู้นำกลุ่มปกป้องสิทธิชาวซิกข์ แทนที่นักเคลื่อนไหวผู้ก่อตั้งกลุ่มที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อปี 2022
กลุ่มนี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการประท้วงต่อต้านการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเกษตรกร ซึ่งการประท้วงใหญ่อันยาวนานทำให้ผู้นำอินเดียต้องยอมพับแผนไปเมื่อเดือน พ.ย.2021
แต่ทางกลุ่มยังเดินหน้ารณรงค์ปกป้องศาสนาซิกข์และวัฒนธรรมปัญจาบ ซึ่งประเด็นอยู่ที่ซิงห์มักออกมาแสดงความเห็นต่อต้านกระแสชาตินิยมฮินดู ที่นายกรัฐมนตรีอินเดียผลักดัน จึงถูกใจบรรดาชาวซิกข์จำนวนไม่น้อยในปัญจาบ ทำให้เขามีชื่อเสียงและมีผู้ติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ
"ปัญจาบ" เป็นเพียงรัฐเดียวในอินเดียที่มีประชากรมากกว่า 57% เป็นชาวซิกข์ ทั้งที่เมื่อดูสัดส่วนในอินเดียทั้งประเทศจะพบว่าเกือบ 80% เป็นชาวฮินดู ขณะที่มีชาวซิกข์ไม่ถึง 2% ส่วนต่างนี้ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้คนบางกลุ่มต้องการให้ปัญจาบแยกตัวจากอินเดียและตั้งเป็นดินแดนใหม่ที่มีชื่อว่า "คาลิสถาน"
ความเคลื่อนไหวนี้สืบย้อนกลับไปได้ไกลจนถึงช่วงอินเดียเป็นเอกราชจากอังกฤษ แต่ได้รับความสนใจมากขึ้น หลังปากีสถานแยกตัวออกจากอินเดีย ทำให้ปัญจาบต้องถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน จุดนี้ทำให้ชาวซิกข์เริ่มอยากมีอิสระมากขึ้น แต่รัฐบาลกลางกลับพยายามเข้ามาแทรกแซงโดยตลอด จนถึงช่วงจุดเปลี่ยนสำคัญคือคำสั่งเปิดปฏิบัติการดาวน้ำเงินของ "อินทิรา คานธี" หญิงเหล็กแห่งอินเดีย ที่ภายหลังถูกบอดี้การ์ดชาวซิกข์ลอบสังหาร
วิหารทองคำในเมือง "อัมริตสาร์" ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนาซิกข์ แต่ถูกทำลายไปส่วนหนึ่งในระหว่างที่กองทัพอินเดียเปิดปฏิบัติการบุกกวาดล้างนักเคลื่อนไหวคาลิสถานที่ไปหลบซ่อนตัวอยู่ภายใน เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับชาวซิกข์ทั่วโลก และความรู้สึกนี้ยังคงไม่หายไปจนถึงปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงกระแสสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนของชาวซิกข์โพ้นทะเล โดยเฉพาะในอังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลียและสหรัฐฯ
นักวิเคราะห์ ประเมินว่า การเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนในต่างประเทศจะเข้มข้นมากกว่าในอินเดีย เพราะชาวซิกข์ในประเทศย่อมรู้ดีว่าหากเกิดความรุนแรงขึ้น พวกเขาจะเป็นกลุ่มที่ต้องรับผลกระทบหนักที่สุด ขณะที่ในตอนนี้เริ่มเห็นการประท้วงจัดขึ้นแทบรายวัน ทั้งจากกลุ่มสนับสนุนและต่อต้านการแยกตัว
วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์