เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2566 ไช่ อิง-เหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน เดินทางถึงบริเวณหน้าโรงแรมภายในมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางเสียงตะโกนด้วยความยินดีจากกลุ่มผู้สนับสนุนที่มาเฝ้ารอพบผู้นำไต้หวัน ก่อนหน้านี้มีกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านการประกาศเอกราชของไต้หวัน รวมตัวกันที่ฝั่งตรงข้ามของโรงแรม เพื่อคัดค้านการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ของผู้นำไต้หวันครั้งนี้
การเดินทางเหยียบแผ่นดินสหรัฐฯ ของไช่ อิง-เหวิน กลายเป็นประเด็นร้อนล่าสุดที่เกิดขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ตกต่ำถึงขีดสุดจากหลากหลายกรณีความขัดแย้ง นับตั้งแต่สหรัฐฯ ยิงบอลลูนจีนตกเมื่อต้นปี 2023
แม้ว่าการเข้าสหรัฐฯ ของผู้นำไต้หวันจะไม่ใช่การเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงการแวะพักก่อนเดินทางต่อไปอเมริกากลาง แต่มีรายงานว่า ไช่ อิง-เหวิน อาจพบหารือกับเควิน แมคคาร์ธีย์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นเบอร์ 3 ในรัฐบาลสหรัฐฯ รองจากโจ ไบเดน ประธานาธิบดี และคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี ส่งผลให้จีนไม่พอใจความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง
ย้อนไปเมื่อเดือน ส.ค.2022 เมื่อแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในขณะนั้น เดินทางเยือนไต้หวัน สร้างความไม่พอใจแก่ทางการจีนอย่างมาก และจีนจัดการซ้อมรบบริเวณช่องแคบไต้หวันในช่วงนั้น เพื่อแสดงท่าทีตอบโต้ จนส่งผลกระทบต่อการเดินทางทั้งทางอากาศและทางทะเล
จับตาผู้นำไต้หวันพบประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ
ตามกำหนดการ ไช่ อิง-เหวิน จะเดินทางไปยังกัวเตมาลาและเบลีซ โดยขาไปแวะพักในนิวยอร์ก ขณะที่ขากลับจะแวะที่ลอส แอนเจลิส ซึ่งคาดว่าเธอจะพบกับแมคคาร์ธีย์ระหว่างอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย แต่ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ เควิน แมคคาร์ธีย์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ระบุว่า ต้องการไปเยือนไต้หวัน แต่ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ที่มีกระแสข่าวว่าเขาจะพบกับไช่ อิง-เหวิน ทำให้หลายฝ่ายมองว่านี่อาจเป็นความพยายามสานสัมพันธ์แบบไม่ให้ซ้ำรอยประธานสภาสหรัฐฯ คนก่อน เพราะถึงอย่างไรการมาสหรัฐฯ ของผู้นำไต้หวัน ก็ไม่เหมือนกับการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐฯ ไปเยือนไต้หวันด้วยตัวเอง
ทางการสหรัฐฯ ระบุว่าการแวะสหรัฐฯ ของผู้นำไต้หวันครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 นับตั้งแต่เธอเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อปี 2016 และระบุว่านี่เป็นเรื่้องปกติ แม้ว่าสำหรับจีนอาจจไม่ใช่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดอย่างปัจจุบัน
อีกด้านหนึ่ง นักวิเคราะห์มองว่าเป็นท่าทีที่แสดงถึงมิตรภาพอันใกล้ชิดระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ และยังเป็นการหาแรงสนับสนุนไต้หวันเพิ่มเติม ท่ามกลางสถานการณ์ที่จีนมีท่าทีแข็งกร้าวต่อไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ จอห์น เคอร์บี โฆษกด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ร้องขอให้จีนไม่ใช้การเดินทางมายังสหรัฐฯ ของผู้นำไต้หวัน เป็นข้ออ้างในการยกระดับท่าทีแข็งกร้าวใดๆ บริเวณช่องแคบไต้หวัน และไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จีนจะต้องมีปฏิกริยาในลักษณะที่เกินกว่าเหตุต่อความเคลื่อนไหวนี้
ส่วนกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ผู้นำไต้หวันทุกคนในอดีตเคยเดินทางมายังสหรัฐฯ เช่นเดียวกับไช่ อิง-เหวิน และการเดินทางแวะพักในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาเป็นปกติ ตามแบบฉบับความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน ซึ่งหมายถึงการไม่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน และเป็นแบบนี้มานานหลายทศวรรษที่สหรัฐฯ ยังยึดในนโยบายจีนเดียว ขณะเดียวกันก็มีกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวันด้วย ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ได้สนับสนุนหรือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในช่องแคบไต้หวัน
"จีน" ปรามผู้นำไต้หวันพบประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ
ก่อนหน้าการเดินทางไปสหรัฐฯ ของไช่ อิง-เหวิน ไม่กี่ชั่วโมง สำนักงานกิจการไต้หวันของจีน ระบุว่า หากผู้นำไต้หวันติดต่อกับแมคคาร์ธีย์ จะถือเป็นการกระทำยั่วยุอีกขั้นที่ละเมิดนโยบายจีนเดียวอย่างร้ายแรง และเป็นภัยต่ออธิปไตย รวมถึงบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน รวมทั้งยังทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันด้วย
ขณะที่ท่าทีของผู้นำไต้หวันยังแข็งกร้าว โดยไช่ อิง-เหวิน ระบุก่อนออกเดินทางเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ว่า จะไม่ยอมให้แรงกดดันภายนอกมาหยุดยั้งไต้หวันจากการสานสัมพันธ์กับโลก และความมุมานะของไต้หวันในการมุ่งหน้าไปหาชาติต่างๆ จะยิ่งมีแต่มากขึ้นเท่านั้น
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อไม่กี่วันก่อน ไต้หวันเพิ่งสูญเสียประเทศที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไปอีก 1 ชาติ เมื่อ "ฮอนดูรัส" ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวันที่มีมายาวนานหลายสิบปี โดยระบุว่า ฮอนดูรัสยอมรับว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงแห่งเดียวที่เป็นตัวแทนของจีนทั้งหมด และไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน
การยุติความสัมพันธ์ครั้งนี้เริ่มส่งสัญญาณมาแล้วสักระยะหนึ่ง หลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศฮอนดูรัสเดินทางเยือนจีนช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสานความสัมพันธ์ ในขณะที่ประธานาธิบดีฮอนดูรัสระบุว่ารัฐบาลจะเริ่มผูกสัมพันธ์กับจีน
ขณะที่ไต้หวัน ระบุว่า ฮอนดูรัสถูกล่อลวงด้วยคำสัญญาของจีนที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน หลังจากฮอนดูรัสได้ร้องขอเงินจำนวน 2,450 ล้านดอลลร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 83,000 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงพยาบาลและเขื่อน
คล้ายกับที่โฆษกสถาบันอเมริกันในไต้หวัน ซึ่งทำหน้าที่เสมือนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงไทเป ออกมาเตือนฮอนดูรัส ซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคอเมริกากลาง ว่า แม้ฮอนดูรัสจะมีอธิปไตยในการตัดสินใจว่าจะเลือกตัดสัมพันธ์กับไต้หวันและหันไปหารัฐบาลในกรุงปักกิ่ง แต่ก็ควรทราบด้วยว่าจีนมักจะไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้
การตัดสัมพันธ์กับไต้หวันของฮอนดูรัส ทำให้ปัจจุบันไต้หวันได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับ 13 ประเทศเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศยากจนและกำลังประเทศพัฒนาในอเมริกากลาง แคริบเบียนและแปซิฟิก
อ่านข่าวอื่นๆ
“เมียนมา ยังไกลประชาธิปไตย” กกต.สั่งยุบพรรค NLD และอีก 39 พรรค