วันที่ 4 เม.ย.2566 ทีมผู้บริหาร Meta เจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ facebook ได้แถลงมาตรการปกป้องการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.2566 โดยจัดตั้งทีมทำงานปฏิบัติการด้านการเลือกตั้งโดยเฉพาะ พร้อมกับวาง 5 แนวทางปกป้องการเลือกตั้ง โดยมีผู้เชี่ยวชาญ และทีมงานคนไทย คอยจัดการกับเนื้อหา เครือข่ายที่อันตราย ข้อมูลเท็จ รวมถึงเพิ่มความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณาที่เกี่ยวกับการเมือง เพื่อรับมือต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแบบเรียลไทม์
อย่างเช่น เนื้อหาที่ลง ต้องไม่ฝ่าฝืนมาตรฐานหลักเกณฑ์ชุมชน ทั้งคำพูดที่แสดงความเกลียดชัง ยุยงให้เกิดความรุนแรง การแทรกแซง หยุดยั้งการลงคะแนนเสียง ไม่อนุญาตให้ส่งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส่วนการลงโฆษณาของพรรคการเมืองแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก ไม่ได้ปิดกั้น อนุญาตให้พรรคการเมืองตั้งเพจ ลงโฆษณาได้ แต่ต้องได้รับการยืนยันตัวตน เพราะมองว่า ผู้ใช้ เฟซบุ๊ก ควรได้รับข้อมูล ข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงและมีสิทธิ์ ในการนำนโยบายของพรรคการเมืองมาพิจารณาก่อนถึงวันเลือกตั้งจริง
ขณะที่การลงโฆษณาของพรรคการเมืองต้องเป็นไปตามกฎมาตรฐานชุมชน หากมีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎของชุมชนและเนื้อหารุนแรงมาก ก็จะถูกลงโทษสูงสุด คือ ปิดเพจ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์ม Tiktok ได้แสดงจุดยืนไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองมีการโปรโมต หรือ โฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้อง กับประเด็นทางการเมืองโดยเด็ดขาด เพื่อสร้างรายได้ในทุกประเภทบนแพลตฟอร์ม TikTok แต่พรรคการเมือง สามารถลงประชาสัมพันธ์นโยบาย เพื่อให้ประชาชนรับรู้ได้ พร้อมกับจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการเลือกตั้ง เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
ทั้งขั้นตอนการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ข้อมูลพรรคการเมือง นักการเมือง และข้อมูลอื่นๆ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ โดยจะเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งประเทศไทย หรือ กกต. เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้ใช้บริการ