ไขข้อข้องใจ เหตุใด แคนดิเดตนายกฯ ไม่ลงสมัครเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากการเป็น ส.ส.ก็ได้ ดังนั้นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงไม่ได้เป็นข้อบังคับตามกฎหมาย
เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ จึงทำให้บรรดาผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.แบบเเบ่งเขต ซึ่งกรณีนี้มีข้อที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งหลาย ๆ พรรคการเมืองมีความเห็นว่า ผู้ที่ท้าชิงตำแหน่งนายกฯ นั้น จะต้องลงสมัครรับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส.ด้วย
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า ปัจจุบันหลายพรรคมีชื่อปรากฏทั้งแคนดิเดต และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ อันดับที่ 1 แต่มีอยู่ 3 คน ที่เปิดตัวท้าชิงเก้าอี้นายกฯ โดยไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. 3 คน ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ, อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่ง 2 คนนี้ ถูกส่งรายชื่อเป็นแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า
ทั้งนี้ มีการตั้งคำถามว่า เพื่อความสง่างาม ในตำแหน่งนายกฯนั้นควรจะมาจาก ส.ส.เพื่อมีที่มาในการยึดโยงกับประชาชนหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ถูกตั้งคำถามมาตลอด ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็แสดงท่าทีสวนทางกับ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านคำพูดที่ว่า
ถ้าผมไม่มีชื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วผมจะแน่ใจได้อย่างไรว่าประชาชนเลือกผมด้วย ไม่ใช่กาบัตรเลือกคนอื่น แล้วผมเป็นแค่ผลพลอยได้ ไม่มีส่วนร่วมอะไรกับการเลือกของประชาชนเลย ผมจึงเลือกที่จะเป็นทั้งหัวหน้าพรรค ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ของพรรค และแคนดิเดตนายกฯ เพื่อให้ผมจะได้มีความมั่นใจว่าคะแนนที่ได้มานั้น ประชาชนเลือกผม
แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้บัญญัติไว้ว่า นายกฯจะต้องมาจาก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.เขต แต่การทิ้งไพ่ตาย ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีนัยสำคัญ ที่ชวนตั้งคำถามว่า ไม่ลงปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ลง ส.ส.เขต แล้วสุดท้าย บันไดการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ควรเป็นเช่นไร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม่พลิกโผ เพื่อไทยยื่น "แพทองธาร-เศรษฐา-ชัยเกษม" แคนดิเดตนายกฯ