วันนี้ (6 เม.ย.2566) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับปรุงบริการด้านสาธารณสุข ให้ประชาชนได้รับบริการการรักษาพยาบาลกรณีป่วยฉุกเฉินที่มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยได้ดำเนินนโยบายจัดบริการห้องฉุกเฉินคุณภาพในหน่วยบริการ ด้วยการสนับสนุนให้โรงพยาบาลจัดห้องบริการเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มารับบริการนอกเวลาราชการด้วยอาการเจ็บป่วยกระทันหัน หรือด้วยเหตุจำเป็นอื่นที่คัดกรองแล้วยังไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยแยกผู้ป่วยกลุ่มนี้ออกจากห้องฉุกเฉินที่เป็นพื้นที่สำหรับผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินจริง ๆ
ภายใต้นโยบายจัดบริการห้องฉุกเฉินคุณภาพนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดงบประมาณเข้าไปสนับสนุน โดยให้ผู้มีสิทธิบัตรทองที่มีอาการป่วยที่มีอาการป่วยกระทันหัน หรือมีความจำเป็นที่ไปโรงพยาบาลนอกเวลาราชการ เมื่อคัดกรองพบว่าไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉิน สามารถเข้ารับบริการได้ที่ห้องซึ่งแยกต่างหากจากห้องฉุกเฉินโดยมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการ และถือว่ากรณีนี้เป็นเหตุจำเป็น โดยที่โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสามารถเบิกค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ของ สปสช.ได้
สำหรับหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลเป็นไปตามประกาศของสำนักงาน สปสช. ซึ่งหลังจากได้นำร่องโครงการมาตั้งแต่ปี 2562 สปสช. ก็ได้ประกาศเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลที่ประชาชนผู้ถือบัตรทองสามารถเข้ารับบริการได้อย่างต่อเนื่อง
และล่าสุด ณ วันที่ 3 เม.ย. 66 ได้ออกประกาศ เรื่อง รายชื่อหน่วยบริการที่ให้บริการนอกเวลาราชการที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิในหน่วยบริการอื่น พ.ศ. 2566 ระบุจำนวนหน่วยบริการ/โรงพยาบาลที่ให้บริการรวมทั้งหมด 129 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด
ทั้งนี้ สามารถอ่านรายชื่อหน่วยบริการ/โรงพยาบาลทั้ง 129 แห่งได้ที่ หน่วยบริการ (คลิกที่นี่)