ในปัจจุบันมนุษย์อย่างพวกเราทั้งหลายยังคงสงสัยใคร่รู้ และคอยแสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของสิ่งมีชีวิตต่างดาวในเอกภพ ซึ่งนักดาราศาสตร์มากมายก็ยังคงคอยพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอถึงแม้ว่าดาวเคราะห์ที่อยู่นอกเหนืออิทธิพลของดวงอาทิตย์ของเราไป หรือที่นักดาราศาสตร์เรียกว่า "ดาวเคราะห์นอกระบบ" เกือบทั้งหมดนั้นมักสังเกตได้ยากด้วยการถ่ายภาพก็ตาม
โดยหนึ่งในวิธีการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบดวงใหม่นี้ คือการใช้ข้อมูลจาก "ยานอวกาศไกอา" (Gaia Spacecraft) ขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency - ESA) ที่ได้ส่งข้อมูลตำแหน่งของดวงดาวต่าง ๆ กว่า 1,000 ล้านดวงในกาแล็กซีทางช้างเผือกมาให้มนุษย์ได้ศึกษาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014
จากเดิมที่นักดาราศาสตร์จะใช้การถ่ายภาพแบบสุ่มรอบ ๆ ดาวฤกษ์ห่างไกล ซึ่งไม่ต่างอะไรไปจากการงมเข็มในมหาสมุทร ไปใช้การตรวจจับการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ น้อย ๆ ของดาวฤกษ์ที่ได้รับอิทธิพลจากดาวเคราะห์ที่โคจรรอบล้อมอยู่แทน ก่อนที่จะใช้สมการทางคณิตคำนวณตำแหน่ง และค่อยเริ่มกระบวนการถ่ายภาพแทน จึงทำให้การศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบเป็นได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างเช่น HIP99770b ดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่ยานไกอาตรวจพบ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์แก๊สที่มีขนาดใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีถึง 15 เท่า และชั้นบรรยากาศของดาวดวงนี้ก็ยังเต็มไปด้วยเมฆหมอกที่อาจมีอุณหภูมิสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส ประกอบกับวงแหวนที่มีส่วนประกอบของหินและน้ำแข็งโคจรอยู่รอบ ๆ ตัวดาว โดยระยะห่างของดาวเคราะห์ดวงนี้กับดาวแม่อยู่ที่ระยะราว 16.9 หน่วยดาราศาสตร์ (2,500 ล้านกิโลเมตร) หรือใกล้เคียงกับระยะทางระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวยูเรนัส
การค้นพบในครั้งนี้จะถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ดาวเคราะห์นอกระบบถูกค้นพบด้วยอุปกรณ์สำหรับตรวจจับหาดาวฤกษ์และดาวเคราะห์โดยเฉพาะ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะสามารถค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบที่มีสิ่งมีชีวิตต่างดาวอาศัยอยู่ได้ง่ายดายยิ่งกว่าในอดีตจากเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
ที่มาข้อมูล: The Convesation
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech