เลือกตั้ง2566 : รทสช.ชูนโยบายให้ทำงานกับรัฐแทนปลดหนี้ กยศ.

การเมือง
20 เม.ย. 66
10:54
480
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : รทสช.ชูนโยบายให้ทำงานกับรัฐแทนปลดหนี้ กยศ.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“พีระพันธุ์” เผย รทสช.ชูนโยบาย “ปลดหนี้ด้วยงาน” แก้ปัญหาคนเบี้ยวหนี้ภาครัฐ เปิดโอกาสให้ทำงานให้กับภาครัฐแทนการใช้เงินคืน เริ่มต้นที่หนี้ กยศ. เชื่อได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

วันนี้ (20 เม.ย.2566) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงนโยบาย “ปลดหนี้ด้วยงาน” ว่า เป็นนโยบายที่พรรคจะนำมาใช้แก้ปัญหาหนี้ภาครัฐ เช่น หนี้จากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่มีข้อถกเถียงกันมากก่อนหน้านี้ว่า จะยกเลิกหรือจะฟ้องร้องบังคับคดีกับผู้ที่ไม่ยอมใช้หนี้กองทุนฯ หลังจากที่กู้ยืมไปแล้ว โดยเห็นว่านโยบายการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาดังกล่าว มีจุดประสงค์สำคัญ คือ เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ที่ขาดโอกาสได้เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีความรู้จากการศึกษา โดยเด็กจำนวนมากไม่มีเงินทุนพอที่จะเรียน จึงเกิดโครงการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาขึ้นมา แต่เมื่อเข้าไปเรียนแล้วได้ความรู้มาแล้ว หลายคนไม่ยอมกลับมาใช้หนี้กองทุนที่กู้ยืมไปจนกลายเป็นปัญหาส่งไปถึงรุ่นน้อง ๆ ต่อไป

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า หากพิจารณาจากผู้ที่ไม่กลับมาใช้หนี้ กยศ.นี้ จะเห็นได้ว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ตั้งใจจะไม่ใช้หนี้คืนเลย กลุ่มคนประเภทนี้จำเป็นต้องจัดการเด็ดขาด ด้วยการฟ้องร้องบังคับคดี เพราะเป็นคนที่ตั้งใจไม่ใช้หนี้ ทำให้รุ่นน้องเสียโอกาส

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ตั้งใจโกง แต่ประสบปัญหายังหางานทำไม่ได้ หรือได้งานแต่ว่าเงินเดือนไม่เพียงพอ เขาไม่อยากโกงแต่ไม่มีเงินใช้ และกลุ่มที่ 3 คือ มีงาน มีเงิน แต่ภาระครอบครัวมีมาก แม้มีเงินเดือน มีรายได้ แต่ไม่พอชำระหนี้

ทั้งนี้ คน 2 กลุ่มหลัง คือ กลุ่มที่ไม่ควรจะดำเนินคดีอะไรอย่างเด็ดขาด เพราะไม่ได้ตั้งใจโกง แต่เพราะไม่มี แต่เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ ขณะที่รัฐเองก็ต้องการคนมีความรู้ไปช่วยเหลือสังคม ดังนั้นจึงเกิดแนวทางว่า “ปลดหนี้ด้วยงาน” และกองทุน กยศ.เป็นตัวอย่าง ไม่จำเป็นที่จะฟ้องร้องบังคับคดีกัน แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เข้ามาช่วยงานให้กับรัฐ เพื่อเป็นการปลดหนี้แทน เชื่อว่าจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

“การฟ้องร้องกันได้กระดาษหนึ่งแผ่น เป็นคำพิพากษาว่าชนะคดีแล้วได้อะไร เมื่อเราส่งเขาไปมีความรู้ ทำไมเราไม่ให้โอกาสเขาเอาความรู้ ไปช่วยเหลือสังคมให้กับรัฐ กลุ่มเหล่านี้ที่เขาไม่ได้ตั้งใจโกง แต่มีภาระทางครอบครัวไม่มีงานทำ ก็สามารถปลดหนี้ของเขาด้วยการใช้แรงงานใช้ความรู้ทำงานให้กับรัฐแทน"

นายพีระพันธุ์ เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ เรื่องของการปลดหนี้ด้วยงาน อีกทั้งหลักเกณฑ์นี้จะสามารถขยายไปเรื่องอื่น เช่น กองทุนหมู่บ้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง