ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถึงคิว "ใบพลู" ขอน้ำปลาจิ้มข้าวมันไก่ กับ "ภาษาพาที" เจ้าปัญหา

สังคม
25 เม.ย. 66
11:10
5,351
Logo Thai PBS
ถึงคิว "ใบพลู" ขอน้ำปลาจิ้มข้าวมันไก่ กับ "ภาษาพาที" เจ้าปัญหา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ถึงคิว "ใบพลู" ในภาษาพาทีชั้น ป.5 ขอน้ำปลาร้านข้าวแกง มาใส่ข้าวมันไก่ ไม่ให้กลายเป็นไร้น้ำใจ ชาวโซเชียลถล่มเนื้อหาล้าสมัย ถอดบทเรียนจากเกี๊ยวใจแตก ที่สังคมตีตรา กับเนื้อหาคลาสสิกของมานะ มานี ปิติ ชูใจ

ยังคงไม่จบปมดรามากับแบบเรียนชั้น ป.5 "ภาษาพาที" ที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์กับแฮชแท็กข้ามวัน ภาษาพาที ไข่ต้ม อย่างต่อเนื่อง ชาวโซเชียลยังคงขุดเนื้อหาที่ไม่สมเหตุสมผลของหนังสือเรียนดังกล่าว และถูกแชร์ในโลกออนไลน์

ล่าสุดมีการเปิดประเด็นใหม่ "ใบพลู" กินน้ำจิ้มข้าวมันไก่เผ็ด แต่ขอน้ำปลาร้านข้าวแกง แต่เจ้าของร้านไม่ให้ กลับถูกมองว่าเป็นคนไม่มีน้ำใจ ทำให้ถูกตั้งคำถามว่าถ้าน้ำจิ้มข้าวมันไก่เผ็ด ทำไมไม่ขอน้ำซุปจากร้านข้าวมันไก่

เนื้อหาดังกล่าวอยู่ในหน้า 101 มีเนื้อหาว่า

“อะไรกัน ไม่ได้ซื้อข้าวแกงร้านนี้สักหน่อย จะมาขอน้ำปลา” คนขายต่อว่าก่อนจะอนุญาต “เอ้า! อยากได้ก็ตักไป”

ใบพลู คอหด เดินถือจานข้าวมันไก่กลับโดยไม่ได้เติมน้ำปลา ไม่เป็นไร เขาไม่เต็มใจให้ก็อย่าไปเอาของเขาดีกว่า น่าเสียดาย

น่าเสียดายจริงๆ ทำอย่างไรขนบธรรมเนียมประเพณีดีๆ ของไทยที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน จึงจะอยู่ในจิตใจของคนไทยทุกคนและในทุกที่

อ่านข่าวเพิ่ม ถึงเวลาเปลี่ยน ไทยทอดทิ้ง "แบบเรียน" นานเกินไปหรือยัง?

ไม่ให้น้ำปลากินข้าวมันไก่เท่ากับ "ไร้น้ำใจ"

นายอานนท์ นำภา ทนายความชื่อดัง โพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา ระบุว่า กินข้าวมันไก่กับน้ำปลา คนเขียนแบบเรียนนี่ โตมายังไง

เรื่องนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาคอมเมนต์ในโพสต์ ระบุว่า (หน้าที่แล้ว) ใบพลู สั่งข้าวมันไก่ แล้วน้ำจิ้มเผ็ดไป เลยไปขอน้ำปลามาใส่แทน แต่ทำไมหนูไม่ไปที่ร้านข้าวมันไก่ ไปขอน้ำปลา หรือน้ำจิ้มแบบไม่ใส่พริกแทนล่ะเนี่่ย (จริงๆ ตอนกิน ก็ตักแค่น้ำจิ้มไม่เอาพริกมาด้วย ก็ได้นี่น่า) ไปขอร้านข้าวแกง คนขายก็งงสิ

พร้อมกับวงกลม เน้นที่วรรคสุดท้าย ที่มีเนื้อหาว่า "ก่อนกลับบ้านน้าแป๊ด พาหลานขึ้นไปศูนย์อาหาร น้าแป๊ดกินบะหมี่แห้ง แต่ใบพลูกินข้าวมันไก่ น้ำจิ้มข้าวมันไก่ค่อนข้างเผ็ด ใบพลูจึงไปขอน้ำปลาจากร้านข้าวแกง"

ดรามา "ภาษาพาที" เกี๊ยวใจแตกถึงไข่ต้มครึ่งซีก

ไม่เพียงแต่ไข่ต้มครึ่งซีกเหยาะน้ำปลา และใส่น้ำผัดผักบุ้ง ที่ตัวละครในหนังสือมีความสุข จากการกระทำแบบนี้ ถือเป็นความพอเพียงและเห็นคุณค่าของชีวิต แต่กลับถูกวิจารณ์หนักเรื่องโภชนาการ และความสุขที่แท้จริง ซึ่งล่าสุด สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมปรับแก้เนื้อหาว่าเป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น

ไม่เพียงแต่ไข่ต้มครึ่งซีก แต่ล่าสุดยังมีการเผยแพร่เนื้อหาหนังสือภาษาไทยพาที ชั้น ป.5 บทที่ 2 คนละไม้ คนละมือ โดยในหนังสือระบุว่า

“ผมมีเงินติดกระเป๋ามาจำนวนหนึ่ง แม้ไม่มากนัก แต่ผมยินดีบริจาคช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ให้พี่น้องร่วมโลก ผมหยอดเงินใส่ทุกกล่องจนเงินหมด การช่วยกันคนละไม้คนละมืออย่างนี้ เป็นวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน นั่นก็คือการมีจิตสาธารณะนั่นเอง ผู้คนในชาติก็อยู่อย่างมีความสุข เป็นการกระทำที่มาจากจิตใจที่งดงามของตนเอง โดยปราศจากการบังคับ เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง”

แต่ภาษาพาที วิชาภาษาไทยในชั้น ป.6 ก็เคยถูกวิจารณ์มาแล้วเมื่อปี 2563 จากบทเรียนที่ 14 ที่ตีตราให้ "เกี๊ยวใจแตก" แม้ว่าชื่อบท "เสียแล้วไม่กลับคืน" บทเรียนนี้มุ่งเน้นสอนใจ เรื่องการรักนวลสงวนตัว ไม่ชิงสุกก่อนห่ามตามความเป็นไทย แต่โดยเนื้อหาระบุว่า 

เกี๊ยวใจแตก มาตั้งแต่ยังไม่มีคำนำหน้าว่านางสาว ตามีไว้ดูโทรทัศน์ ปากมีไว้กิน และพูดเรื่องไร้สาระ หูมีไว้แนบกับโทรศัพท์ไม่เคยห่าง... 

โดยนักการศึกษามองว่าการตีตราและเนื้อหาดังกล่าว ไม่เหมาะสมกับเด็กวัยนี้ เพราะเป็นการใช้ภาษา และการเล่าเรื่องที่ค่อนข้างซ้ำเติม และจะทำให้เด็กผู้หญิงระดับ ป.6 คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมกับวัยนี้

โหยหาแบบเรียนภาษาไทย "มานะ มานี ปิติ ชูใจ"

ขณะที่ชาวโซเชียลพากันแชร์แบบเรียนภาษาไทย มานะ มานี ปิติ ชูใจ  หนังสือเรียนวิชาภาษาไทยระดับประถมศึกษา หลักสูตร พ.ศ.2521 ซึ่งอยู่ในช่วงวัยอายุ 50 ปีก่อน โดยถือเป็นชุดแบบเรียนภาษาไทย ระดับประถมศึกษาปีที่ 1–6 รวม 12 เล่ม (ภาคเรียนละ 1 เล่ม) ใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทย ระหว่างปี พ.ศ.2521–2537 เขียนเรื่องโดยรัชนี ศรีไพรวรรณ

ส่วนภาพประกอบ ซึ่งวาดขึ้นโดยเตรียม ชาชุมพร นักเขียนการ์ตูนและนิยายภาพ จากชัยพฤกษ์การ์ตูน, โอม รัชเวทย์ และปฐม พัวพิมล 

โดยมีตัวละคร 11 ตัวที่มาสร้างรอยยิ้มในบทเรียนที่ผูกพันกับครอบครัว สัตว์เลี้ยงคือ มานี มานะ ปิติ ชูใจ วีระ สมคิด ดวงแก้ว เพชร จันทร คุณครูไพลิน คุณครูกมล มีม้าชื่อเจ้าแก่ มีแมวชื่อเจ้าสีเทา และหมาชื่อเจ้าโต ที่เป็นเพื่อนของเด็กๆ 

ถึงเวลาเปลี่ยน ไทยทอดทิ้ง "แบบเรียน" 

ก่อนหน้านี้ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์"ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์" นักวิชา การอิสระ ถึงแนวทางการเสนอข้อคิดเห็นและปรับปรุงแก้ไขแบบเรียน พร้อมยืนยัน ผิดได้ก็แก้ได้แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักสูตรแกนกลาง จากกรณีบทเรียนภาษาไทยกรณีเกี๊ยวใจแตก 

ธนัชชนม์ ระบุว่า หนังสือภาษาพาทีชุดนี้ ออกตั้งแต่ปี 2559 สมควรแก่เวลาแล้วที่จะต้องปรับปรุงเนื้อหา เพราะหนังสือของกระทรวงมีการปรับปรุงเนื้อหาอยู่แล้ว ส่วนจะปรับปรุงเนื้อหาให้ทันเด็กหรือผู้ปกครองได้หรือไม่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

โดยมองว่า ชุดความคิดเดิมที่ถ่ายทอดผ่านสำนวนของผู้ใหญ่ในแบบเรียน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลง เห็นได้จากการตั้งคำถาม และการกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

พร้อมย้ำว่า ทางเดียวที่จะแก้ไขเรื่องนี้ได้ คือ ต้องเปิดให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วม เช่น คนที่รณรงค์เกี่ยวกับปัญหาสังคมที่เกี่ยวข้อง อาจจะทำแคมเปญแล้วยื่นเรื่องไปที่กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งหน่วยงานย่อมรับฟังและอาจนำไปสู่การแก้ไข

คำพวกนี้เด็กไม่จำเป็นต้องรับรู้จากแบบเรียน เนื้อหายังไปขัดแย้งกับหลักสูตรวิชาสังคมศึกษา ชั้น ป.2 และ ป.5 ที่สอนให้นักเรียนต้องไม่ใช้คำพูด แปะป้าย หรือบูลลี่ บุคคลอื่น ดังนั้นถ้าถามว่าเกี๊ยวใจแตก สมควรที่จะมาเขียนไว้ ก็ไม่สมควร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดรามา ”ไข่ต้ม” ไม่เท่ากับความพอเพียง สพฐ.สั่งแก้เนื้อหา

“แบบเรียน” พื้นที่ช่วงชิงอำนาจสู่โอกาสส่งต่ออุดมการณ์

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง