จากกรณี "ยายยุพิน" อายุ 83 ปี ประสบอุบัติเหตุจากรถเมล์สาย 66 ชนเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา
รถเมล์ทับยาย 83 ปี ข้ามทางม้าลายไปซื้อข้าวให้หลานป่วยมะเร็ง
คนขับรถเมล์ขอขมาครอบครัว "ยายยุพิน" ถูกชนเสียชีวิต
วันนี้ (25 เม.ย.2566) ไทยพีบีเอสออนไลน์เปิดสถิติจาก ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ระบุว่า ในรอบ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564 ) ที่ผ่านมา มีผู้ประสบภัยในช่วงอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 9.43 จากจำนวนประชากรทั้งหมด ที่เสียชีวิต 44,810 คน และ บาดเจ็บ 1,945,345 คน
เมื่อพิจารณาเฉพาะสัดส่วนผู้ประสบภัยที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบว่าในช่วง 5 ปี (2560-2564) แยกได้ดังนี้
- ผู้เสียชีวิต 7,526 คน
- บาดเจ็บ 179,978 คน
- ทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เป็นเพศหญิง ร้อยละ 3.41 เพศชายร้อยละ 6.01
- ส่วนใหญ่เป็นคนขับยานพาหนะนั้นๆ สูงถึงร้อยละ 7.71 รองลงมาคือผู้โดยสารร้อยละ 1.22 และบุคคลอื่นๆ ร้อยละ 0.5
จำนวนผู้ประสบภัยแยกตามขนาดเครื่องยนต์ พบว่าจำนวนผู้ประสบภัยสูงที่สุดเกิดจาก
- ยานพาหนะขนาด 111-125 CC มากถึงร้อยละ 53.28
- รองลงมาร้อยละ 41.37 จากยานพาหนะขนาดไม่เกิน 110 CC
ซึ่งทั้ง 2 ชนิดยานพาหนะ คือ รถจักรยานยนต์
ในขณะที่พาหนะที่มีขนาด 156-300 CC หรือ รถเมล์ รถสาธารณะที่รวมอยู่ในนั้น มีสถิติอยู่ที่ร้อยละ 0.16
"คนเดินเท้าเสียชีวิต" ในไทยไตรมาสแรกเกินครึ่งร้อย
กลุ่มพัฒนานโยบาย และสารสนเทศการบาดเจ็บจราจร กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค เปิดข้อมูล "คนเดินเท้าเสียชีวิตในประเทศไทย" วันที่ 1 ม.ค.-2 เม.ย.2566
- มีผู้เสียชีวิต 60 คน
- พาหนะที่ชนมากที่สุดคือ รถเก๋งและรถกระบะ ชนิดละร้อยละ 32 เท่ากัน
- ช่วงเวลาเกิดเหตุมากที่สุดคือ 03.00-05.59 น.
- สถานที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ ถนนทางหลวง ร้อยละ 65
- กทม. พบจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุด 11 คน รองลงมาคือ นนทบุรี 6 คน และ มหาสารคาม อุดรธานี จังหวัดละ 5 คนตามลำดับ
กลุ่มพัฒนานโยบาย และสารสนเทศการบาดเจ็บจราจร วิเคราะห์ข้อมูลข้างต้นว่า
เกิดเหตุรถกระบะและรถเก๋งชนคนเดินเท้าบนถนนทางหลวงมากที่สุด ลักษณะเป็นถนนทางตรง 1-10 ช่องทางจราจร (รวมไปกลับ) ส่วนใหญ่เกิดอุบัติเหตุชนคนเดินเท้าเสียชีวิตใน 2 ช่วงเวลามากที่สุดคือ 03.00-05.59 น. โดยคนเดินเท้าถูกรถชนมากที่สุดในเขต กทม. ช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้ทันเวลาเข้างานในช่วงเช้า อาจจะส่งผลให้การจราจรติดขัด รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่คนเดินเท้าเดินทางไปขึ้นรถเมล์ หรือรถสาธารณะ หรือออกไปซื้อของที่ตลาด หรือไปออกกำลังกายในตอนเช้า เดินหรือวิ่งบริเวณไหล่ทางที่ไม่ได้จัดไว้ให้คนใช้ออกกำลังกาย ในขณะที่พระสงฆ์เดินบิณฑบาตในช่วงเช้ามืดซึ่งเสี่ยงต่อการโดนรถชน
รองลงมาคือช่วง 06.00-08.59 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต่อเนื่องจากช่วงเวลาเช้ามืด เกิดจากการจราจรที่พลุกพล่าน ผู้คนสัญจรไปมาโดยใช้รถใช้ถนนและคนเดินเท้า เร่งรีบข้ามถนนทางตรงที่ไม่ใช่ทางม้าลายจัดไว้ สำหรับคนเดินข้ามถนนเพื่อไปขึ้นรถเมล์หรือรถสาธารณะไปทำงาน เด็กเดินทางไปโรงเรียนโดยไม่ได้อยุ่ในความดูแลของผู้ปกครอง
เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์พบว่า ผู้เดินเท้าขาดการประเมินความเสี่ยงและคาดการณ์อุบัติเหตุ ไม่ระมัดระวังในการเดินข้ามถนน หรือเดินในบริเวณที่ไม่ได้จัดให้คนเดินเท้าใช้ในการสัญจร ไม่ว่าจะเป็นทางแยก ทางข้าม หรือทางม้าลาย จึงทำให้ถูกพาหนะที่วิ่งบนถนนชน
สำหรับผู้ขับขี่พาหนะต่างเร่งรีบเดินทางไปทำงานเพราะเป็นช่วงเวลาเร่งด่วน อาจจะไม่ได้ประเมินสถานการณ์โดยรอบ ขับขี่รถด้วยความเร็ว ตัดสินใจผิดพลาด ปัจจับน้ำหนักรถกระบะที่บรรทุกของอาจมีผลต่อระยะเบรค ซึ่งทำให้รถเสียหลักชนคนที่อยู่ในบ้านหรือทางเท้า ทำให้คนเดินเท้าบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ข้อควรรู้ แนะนำ การใช้รถใช้ถนนบริเวณทางข้าม
- เดินบนทางเท้าหรือชิดขอบถนนด้านในทุกครั้ง และควรเดินสวนทางกับรถ
- หากมีเด็กเล็ก จูงมือให้แน่น ป้องกันเด็กวิ่งออกถนน
- ถ้าเดินในช่วงเวลาที่มีแสงสว่างน้อย ควรใส่เสื้อผ้าสีสว่าง หรือมีแถบสะท้อนแสงตามเสื้อผ้า
- ถ้าต้องข้ามถนน ควรเลือกทางข้ามที่ปลอดภัย เช่น สะพานลอย ทางม้าลาย และข้ามถนนด้วยความระมัดระวัง
- การเดินข้ามถนน ควรปฏิบัติตาม STEP มองขวา มองซ้าย มองขวา
- ระหว่างเลน ถ้ามีรถจอดบังสายตา ต้องชะลอและมองด้านขวาก่อนข้ามเลนต่อไป
- กรณีหยุดบริเวณกลางถนนที่ไม่มีเกาะกลางถนน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
- ส่วนผู้ขับขี่ควรลดความเร็วในชุมชน 30 กม./ชม.
- ในช่วงเวลากลางคืนที่มีแสงสว่างน้อย ผู้ขับขี่ควรขับขี่ด้วยความเร็วไม่สูง เพื่อความปลอดภัยเมื่อต้องหยุดรถกะทันหัน
ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน, กลุ่มพัฒนานโยบาย และสารสนเทศการบาดเจ็บจราจร กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค