“ศาลฎีกาเห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลย เป็นการกระทำอย่างอุกอาจ ในห้างสรรพสินค้าอันเป็นที่สาธารณะ กระทำต่อผู้บริสุทธิ์มีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บสาหัส 1 คน และคนที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย”
“เป็นพฤติการณ์อุกอาจโหดเหี้ยมอันตรายร้ายแรงผิดมนุษย์ จำเลยเป็นถึงผู้อำนวยการโรงเรียนควรมีจิตสำนึกที่ดี ให้สมกับมีอาชีพเป็นครู ควรประพฤติตัวให้เป็นเยี่ยงอย่าง แต่กลับกระทำอย่างอุกฉกรรจ์”
“จำเลยขอความปรานีจากศาลเพื่อลดโทษให้ จึงไม่มีเหตุสมควร ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน”
สิ้นคำพิพากษาศาลฎีกา นายประสิทธิชัย หรือ “กอล์ฟ” จำเลยในคดีปล้นชิงทรัพย์ ร้านทองแห่งหนึ่งในห้างสรรพสินค้า จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2563 ถึงกับนั่งก้มหน้า
“ประหารชีวิต” บทลงโทษทางอาญา
แม้การประหารชีวิต ถือเป็นบทลงโทษทางอาญาที่หนักที่สุดตามกฎหมายไทย ซึ่งมีโทษ 5 อย่าง คือ ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง จำคุก และประหารชีวิต
ปัจจุบันหลายประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่มีอีกหลายประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิต เช่นเดียวกับไทย สหรัฐอเมริกา และ จีน ซึ่งเน้นปกป้องสังคมและพลเมืองส่วนใหญ่ ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมากกว่าเน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย
ข้อมูลล่าสุดวันที่ 22 มี.ค.2566 ของกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทั่วประเทศในเรือนจำ 143 แห่ง จำนวน 266,339 คน มีนักโทษประหารชีวิต 227 คน แบ่งเป็น ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาอุทธรณ์ 183 คน ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาฎีกา 23 คน และนักโทษเด็ดขาดคดีถึงที่สุด 21 คน
นายประสิทธิชัย หรือ “กอล์ฟ” เป็นนักโทษเด็ดขาดคดีถึงที่สุด โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา วันที่ 27 ส.ค.2564 ให้ประหารชีวิตสถานเดียว ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ขอลดโทษ
แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่า ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะสมควรใช้ดุลยพินิจลดโทษให้จำเลย โดยระบุว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว
ต่อมานายประสิทธิชัย หรือ “กอล์ฟ” จึงยื่นฎีกาขอให้ศาลลดโทษ แต่ในที่สุด ศาลฎีกาเห็นพ้องจึงมีคำพิพากษายืนสั่ง “ประหารชีวิต”
เปิดแฟ้มนักโทษประหารชีวิต
ตั้งแต่ปี 2478-ปัจจุบัน ไทยบังคับโทษประหารชีวิตไปแล้ว จำนวน 325 คน ยิงเป้า 319 คน โดย น.ช.สุดใจ หรือ “น้อย” ผู้ต้องขังคดียาเสพติด เป็นนักโทษรายสุดท้าย เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2545
ส่วนโทษประหารชีวิต โดยการฉีดยาสารพิษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ประกอบมาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ.2546
ที่กำหนดให้ดำเนินการด้วยวิธีการฉีดยา หรือสารพิษให้ตาย เริ่มครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2546 ถึงวันที่ 24 ส.ค.2552 รวม 7 ราย โดย “ธีรศักดิ์” หรือ “มิก” เป็นนักโทษเด็ดขาด คดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2555 เหตุเกิดที่ จ.ตรัง ซึ่งได้ทำร้ายและบังคับเอาทรัพย์สิน ใช้มีดแทงเหยื่อ 24 แผล จนถึงแก่ความตาย
“ธีรศักดิ์” หรือ “มิก” ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยา เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2561 ถือเป็นนักโทษรายแรกในรอบ 9 ปี หากนับจากนักโทษคนแรกที่ถูกลงโทษด้วยการประหารชีวิตเมื่อปี 2546
ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ ไทยลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยปริยายหากไม่มีการประหารนักโทษภายใน 10 ปี ดังนั้น การบังคับใช้โทษประหารชีวิตกับ “ธีรศักดิ์” หรือ “มิก” นักโทษคดีอุกฉกรรจ์ ทำให้ไทยอยู่ในสถานะยัง “ไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิต”
ยื่นฎีกาลดโทษ “สิทธิ” นักโทษประหาร
ตามขั้นตอนกฎหมาย แม้ศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิต นักโทษเด็ดขาดคดีถึงที่สุดแล้ว แต่ผู้ต้องหายังมีสิทธิยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้
ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ระบุว่า การพระราชทานอภัยโทษให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ หรือผู้ต้องโทษ มี 2 ประเภท คือ การพระราชทานอภัยโทษทั่วไป มักจะจัดขึ้นในวโรกาสมหามงคลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
และการพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ให้กับผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคล ตามคำแนะนำของกระทรวงมหาดไทย ส่วนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัย
ส่วนการยื่นฎีกาฯ เพื่อขออภัยโทษนั้น แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ หากเป็นผู้ต้องโทษกรณีทั่วไป ยื่นฎีกาได้ทันทีที่คดีถึงที่สุด ส่วนผู้ต้องโทษประหารชีวิต ต้องยื่นภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด
กรณี นายประสิทธิชัย หรือ “กอล์ฟ” แม้ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษา ยืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ประหารชีวิต แต่ผู้ต้องหายังใช้สิทธิยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ โดยต้องยื่นภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด
ขณะเดียวกันมีการแก้ไขกฎหมายตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 ห้ามประหารชีวิตเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี (ในขณะกระทำความผิด)
นอกจากนี้ยังห้ามลงโทษประหารชีวิตในหญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงเพิ่งคลอดบุตร หรือบุคคลวิกลจริต ซึ่งเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Convenant on Civil and Political Rights : ICCPR)
คำสั่งประหารชีวิตนักโทษ คือ การลงทัณฑ์ขั้นสูงสุดเพื่อทำให้สังคมปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงนักโทษประหารส่วนใหญ่ยังอยู่ในเรือนจำ และยังได้รับสิทธิในการลดหย่อนผ่อนโทษตามวาระและโอกาสสำคัญต่างๆ
จึงไม่แปลก หากจะพบว่า มีนักโทษประหารฯ มีจำนวนไม่น้อย ที่พ้นโทษออกจากเรือนจำและกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและสังคมได้ตามปกติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :