ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บทวิเคราะห์ : เลือกตั้ง2566 : 3 บิ๊กแบงของพรรคก้าวไกล

การเมือง
28 เม.ย. 66
15:56
1,044
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : เลือกตั้ง2566 : 3 บิ๊กแบงของพรรคก้าวไกล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ความร้อนแรงของพรรคก้าวไกล ทั้งในโลกออนไลน์ และโพล ส่งผลถึงพรรคเพื่อไทยเช่นกัน แม้จะอยู่ในขั้วฝ่ายค้านด้วยกัน แม้แต่ฐานไข่แดงอย่างเขต อ.เมืองเชียงใหม่ และเชียงราย

ถึงขั้นต้องยกทัพใหญ่ไปช่วยเปิดเวทีปราศรัยหาเสียงหวังตอกย้ำกระแสแลนด์สไลด์ ไม่ปันใจให้พรรคอื่น รวมถึงพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งสถานศึกษา และมหาวิทยาลัย

ด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือนิวโหวตเตอร์ ที่จะสามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกได้ จากการสำรวจข้อมูลปลายปี 2565 หากนับกลุ่ม First Voter และหนุ่มสาว อายุ 18-25 ปี มีรวม 6.6 ล้านคน หรือประมาณ 12.78% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

แม้จะไม่มาก หากเทียบกับช่วงอายุอื่น อาจไม่สามารถกำหนดผลแพ้ชนะการเลือกตั้งได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นกลุ่มที่แอคทีพ อยากมีส่วนร่วมกับการเมือง รวมถึงการเลือกตั้ง กลุ่มนิวโหวตเตอร์เหล่านี้ มีการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกันผ่านแอพพลิเคชั่นตลอดเวลา

หากไปคิดรวมกับกล่มอายุ 26-41 ปี ที่มีอีก 15 ล้านคน หรือ 28.87 % จะรวมกันได้ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งในกลุ่มหลังนี้ มีจำนวนไม่น้อยที่อยากได้การเมืองแบบใหม่ ไม่ใช่แบบเดิม

ยิ่งในผลโหวตของ 2 ค่ายสื่อยักษ์ใหญ่”มติชน”กับ”เดลินิวส์” ครั้งที่ 1 นายพิธา ลิ่มเจริญรัตน์ ปาดหน้าแซง “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนำห่างนายเศรษฐา ทวีสิน ยิ่งจุดกระแสการเป็นพรรคที่ถูกจับตาเป็นพิเศษมากขึ้น

ประกอบกับความขยันของนายพิธา ทั้งลงพื้นที่ช่วยหาเสียงให้ลูกพรรคหรือขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ รวมทั้ง เดินสายเวทีดีเบตเลือกตั้งเกือบครบทุกเวทีในการดีเบตภาพใหญ่ และน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ในเวทีด้านเศรษฐกิจ บวกกับคณะก้าวหน้า นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นทีมเสริมช่วยให้ในโลกออนไลน์และโซเซียล ร้อนระอุมากขึ้น

ยิ่งเมื่อรู้ว่ากระแสกำลังมา พรรคก้าวไกลจึงเปิดเกมรุกต่อทันที ดังคำสุภาษิตไทย คือตีเหล็กต้องตีตอนร้อน โดยการประกาศโรดแม็ปพร้อมเปลี่ยนประเทศ ใน 100 วันวันแรก, 1 ปีแรก และ 1 สมัยแรกหากได้เป็นรัฐบาล ถือเป็นการกระตุ้นแฟนคลับและคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้ง

นับได้ว่าสร้างความฮือฮาไม่น้อย ทั้งในเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง นอกจากการปฏิวัติระบบราชการ รื้องบประมาณ 2567 ใหม่ ปลดล็อคพันธนาการที่เป็นอุปสรรคแล้ว ยังเปิดประเด็นทบทวนคดี นิรโทษกรรมการชุมนุมทางการเมืองและการรื้อคดีหาคนผิดนคดีสลายการชุมนุม ปี 2553 ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 บิ๊กแบงที่จะทำให้ 1 ปี

3 บิ๊กแบง คือ 1.จัดให้ทำประชามติเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด 2.ผ่านกฎหมายยกเลิกเกณฑ์ทหารเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ และ 3.รื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุมปี 2553

สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น เป็นผลจากเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้คะแนนแบบแลนด์สไลด์ ได้จุดกระแสความต้องการให้กับประชาชนในต่างจังหวัดที่อยากจะมีโอกาสได้เลือกผู้ว่าฯ ของตัวเอง ไม่ใช่รอให้กระทรวงมหาดไทยเป็นคนเลือกให้ เพราะจะรู้สภาพ รู้ปัญหา รู้จุดเด่นจุดด้อย และรู้แนวทางการพัฒนาของจังหวัดดีกว่าคนนอก

แต่เรื่องนี้ ต้องเจอตอสำคัญระดับ “ตอม่อ” คือเป็นการยึดอำนาจรวมถึงผลประโยชน์มหาศาลจากไปจากกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาลกลาง

เรื่องผลักดันกฎหมายยกเลิกเกณฑ์ทหารที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นการสมัครเป็นทหารด้วยความสมัครใจแทน เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปฏิรูปกองทัพ ซึ่งโดนใจคนรุ่นใหม่มาก ๆ

แต่อุปสรรคสำคัญคือกองทัพ ที่จะถูกเชื่อมโยงไปถึงความมั่นคง และความจำเป็นที่ยังต้องมีกองกำลังทหารไว้ปกป้องอธิปไตย หรือไว้รับมือกับอริราชศัตรู ยังไม่นับอุปสรรคเรื่องตัวบทกฎหมายอีกมากมายสารพัด

ส่วนเรื่องรื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ระหว่างช่วง 7-19 พ.ค. กำลังทหารพร้อมอาวุธและรถหุ้มเกราะ เข้าปิดล้อมขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.และแนวร่วม มีผู้ตายจากทั้ง 2 ฝ่าย 87 คน และอีกส่วนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์และใกล้เคียง รวมทั้งมีการขยายผลไปถึงการเผาศาลากลางจังหวัดอีกหลายแห่งในภาคอีสาน

เป้าหมายหลักอาจอยู่ที่ใครเป็นคนตัดสินใจ สั่งการใช้กำลังเข้าปฏิบัติการ เนื่องจากเกิดขึ้นปาดหน้าตัวแทนของวุฒิสภา ที่เพิ่งมีมติให้เข้าไปเป็นตัวกลาง ในการเจรจายุติความขัดแย้งของ 2 ฝ่าย แต่การจะรื้อฟื้นเรื่องนี้ จะมีคำถามและวิธีการทางปฏิบัติ รวมทั้งกฎหายและคำสั่งพิเศษอีกมากมาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน

ยังไม่นับกรณีหากได้เป็นรัฐบาลจริง จะมีภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการจำนวนมาก จนต้องมาจัดดับความเร่งด่วนกันใหม่ เพราะไม่ว่าฝ่ายใดจะได้เป็นรัฐบาล ย่อมเป็นที่คาดหวังของผู้คนทุกฝ่าย ความเป็นไปได้ใน 3 ภารกิจสำคัญนี้ และอาจรวมถึงเรื่องอื่น อาจเป็นเพียงแค่การเริ่มต้น หรือเพียงปักหมุดในเชิงสัญลักษณ์ แต่จะผลักดัน สานต่อหรือดำเนินการได้บรรลุเป้าหมายได้แค่ไหน เมื่อใด ยังไม่มีใครตอบได้

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เจือ" ยันกระแส "ลุงตู่" ดีมาก มั่นใจได้ ส.ส. สงขลา

เลือกตั้ง2566 : เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร แต่ละที่ไม่เหมือนกัน ยึดตามสถานทูตกำหนด

เลือกตั้ง2566 : "เผดิมชัย" ยัน ชทพ.นครปฐม สู้เต็มที่ทั้ง 6 เขต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง