วันนี้ (29 เม.ย.2566) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (PSAKU Poll) และสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย (OPPS) เปิดเผย ผลการสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ เรื่อง “การเลือกตั้ง 2566” ครั้งที่ 1 ระบุว่า
การสำรวจออนไลน์ครั้งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2566 ระหว่างวันที่ 18-28 เม.ย.2566 โดย ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (PSAKU Poll) ร่วมกับ สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย (OPPS) และ บริษัท ที่ปรึกษากฎหมาย ธุรกิจ และการวิจัย ไวท์ ไทเกอร์ จำกัด
ส่วนที่ 1 ข้อมูลประชากรศาสตร์
ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ ประกอบด้วยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 2,897 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย (50.3%) อายุ 28-42 ปี (เจน Y) (31.0%) นับถือศาสนาพุทธ (76.2%) มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเป็นกลาง (48.8%) สถานภาพโสด (54.8%)
สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา-ปริญญาตรี (59.1%) ประกอบอาชีพพนักงาน/ลูกจ้างบริษัทเอกชน (26.7%) มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 15,000 บาทหรือน้อยกว่า (32.4%) มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (34.5%) อาศัยอยู่ในเขตเมือง (59.2%)
แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย
ส่วนที่ 2 ความต้องการและความตั้งใจในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ ต้องการให้แคนดิเดตดังมีรายชื่อต่อไปนี้ ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี
1. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) คิดเป็นร้อยละ 28.6
2. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) คิดเป็นร้อยละ 21.7
3. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) คิดเป็นร้อยละ 12.7
4. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) คิดเป็นร้อยละ 9.0
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์อีกราว ร้อยละ 8.1 ยังตัดสินใจไม่ได้หรือยังไม่ได้ตัดสินใจว่าอยากให้แคนดิเดตคนใดได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล
แบบแบ่งเขต : ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ ตั้งใจจะลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครในระบบเขต ของพรรคการเมืองดังต่อไปนี้
1. พรรคเพื่อไทย คิดเป็นร้อยละ 34.4
2. พรรคก้าวไกล คิดเป็นร้อยละ 24.0
3. พรรคพลังประชารัฐ คิดเป็นร้อยละ 13.3
4. พรรครวมไทยสร้างชาติ คิดเป็นร้อยละ 8.2
ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์อีกราว ร้อยละ 7.4 ยังตัดสินใจไม่ได้หรือยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครในระบบเขต ของพรรคการเมืองใด
อนุทิน ชาญวีรกูล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทย
แบบบัญชีรายชื่อ
ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ ตั้งใจจะลงคะแนนเสียง ในระบบบัญชีรายชื่อ ให้กับพรรคการเมืองดังต่อไปนี้
1. พรรคเพื่อไทย คิดเป็นร้อยละ 33.2
2. พรรคก้าวไกล คิดเป็นร้อยละ 24.5
3. พรรคพลังประชารัฐ คิดเป็นร้อยละ 13.6
4. พรรครวมไทยสร้างชาติ คิดเป็นร้อยละ 9.0
ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์อีกราว ร้อยละ 7.7 ยังตัดสินใจไม่ได้หรือยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลงคะแนนเสียง ในระบบบัญชีรายชื่อ ให้กับพรรคการเมืองใด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ
ส่วนที่ 3 ปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบแบ่งเขต
ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ ให้ความสำคัญกับปัจจัยเหล่านี้ ในการตัดสินใจเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แบบแบ่งเขต ได้แก่
1. นโยบายของพรรค ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.50/3.00
2. จุดยืนทางประชาธิปไตยของพรรค ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.41/3.00
ส่วนปัจจัยที่ผู้ตอบแบบสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ ให้ความสำคัญน้อยที่สุด คือ
1. เงิน/ผลประโยชน์ เพื่อการซื้อเสียง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ1.12/3.00
2. ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้สมัคร ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.42/3.00 ตามลำดับ
แบบบัญชีรายชื่อ
ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ ให้ความสำคัญกับปัจจัยเหล่านี้ ในการตัดสินใจเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แบบบัญชีรายชื่อ ได้แก่
1. นโยบายของพรรค ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.49/3.00
2. จุดยืนทางประชาธิปไตยของพรรค ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.44/3.00
ส่วนปัจจัยที่ผู้ตอบแบบสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ ให้ความสำคัญน้อยที่สุด คือ
1. เงิน/ผลประโยชน์ เพื่อการซื้อเสียง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ1.20/3.00
2. แนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งหลังการเลือกตั้ง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.69/3.00 ตามลำดับ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ
ส่วนที่ 4 บทวิเคราะห์
ใครคือสนับสนุนของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย?
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ ที่ต้องการให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ผู้หญิง (426/829) อายุ 43-57 (เจน X) (281/829) นับถือศาสนาพุทธ (721/829) มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเป็นกลาง (397/829)
สถานภาพโสด (482/829) สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา-ปริญญาตรี (508/829) ประกอบอาชีพเป็นพนักงาน/ลูกจ้างบริษัทเอกชน (294/829) มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 15,001-30,000 บาท (279/829) มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (251/829) อาศัยอยู่ในเขตชนบท (481/829)
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล
ใครคือสนับสนุนของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล?
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ ที่ต้องการให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และให้การสนับสนุนพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ผู้หญิง (355/628) อายุ 18-27 ปี (เจน Z) (312/628) นับถือศาสนาพุทธ (426/628) มีอุดมการณ์ทางการเมืองค่อนไปทางเสรีนิยม (364/628)
สถานภาพโสด (426/628) สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา-ปริญญาตรี (465/628) ยังคงเป็นนักเรียน/นิสิต/นักศึกษา (265/628) มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 15,000 บาทหรือน้อยกว่า (318/628) มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคใต้ (188/628) อาศัยอยู่ในเขตเมือง (348/628)
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ
ใครคือสนับสนุนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรคพลังประชารัฐ?
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ ที่ต้องการให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และให้การสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ผู้ชาย (270/367) อายุ 28-42 ปี (เจน Y) (218/367) นับถือศาสนาพุทธ (273/367) มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเป็นกลาง (193/367) สถานภาพโสด (273/367)
สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา-ปริญญาตรี (184/367) ประกอบอาชีพเป็นพนักงาน/ลูกจ้างบริษัทเอกชน (165/367) มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 15,001-30,000 บาท (187/367) มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (206/367) อาศัยอยู่ในเขตเมือง (279/367)
ใครคือสนับสนุนของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรครวมไทยสร้างชาติ
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ ที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และให้การสนับสนุนพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ผู้ชาย (140/262) อายุ 43-57 (เจน X) (155/262) นับถือศาสนาพุทธ (206/262) มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเป็นกลาง (129/262) แต่งงานแล้ว (151/262)
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท-เอก (132/262) เกษียณอายุแล้วหรือว่างงาน (70/262) มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-50,000 บาท (76/262) มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (121/262) อาศัยอยู่ในเขตเมือง (224/262)
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล
เจนไหนสนับสนุนใครบ้าง?
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ เจน Z (อายุ 18-27 ปี) ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล (312/796)
ขณะที่ เจน Y (อายุ 28-42 ปี) และ เจน X (อายุ 43-57 ปี) ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย (266/897 และ 281/861) แต่ เจน Baby Boomer (อายุ 58-76 ปี) ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรครวมไทยสร้างชาติ (75/334)
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ เจน Z เป็นกลุ่มที่ยังตัดสินใจไม่ได้ หรือยังไม่ได้ตัดสินใจ ว่าจะสนับสนุนใคร เป็นสัดส่วนที่มากที่สุด ถึงร้อยละ 15.83
ขณะที่ เจน Y, เจน X และ เจน Baby Boomer มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5.80, 5.34 และ 3.59 ตามลำดับ ในขณะที่ เจน Builder ตัดสินใจว่าจะสนับสนุนใครไปแล้วทั้งหมด
อุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน สนับสนุนใครบ้าง ?
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ ที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ค่อนไปทางเสรีนิยม ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล (364/1,079)
ขณะที่ ค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรครวมไทยสร้างชาติ (114/404)
ส่วนเป็นกลาง ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย (397/1,414)
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตอีกว่า กลุ่มที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นกลางนั้น เป็นกลุ่มที่ยังตัดสินใจไม่ได้หรือยังไม่ได้ตัดสินใจ ว่าจะสนับสนุนใคร เป็นสัดส่วนที่มากที่สุด ถึงร้อยละ 11.32 ขณะที่ ค่อนไปทางเสรีนิยม และ ค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.82 และ 5.94 ตามลำดับ
คนเมือง-คนชนบท สนับสนุนใครบ้าง?
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ ซึ่งอาศัยอยู่ใน เขตเมือง ให้การสนับสนุน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ในสัดส่วนที่เท่ากัน (348/1,714) แต่ก็ชัดเจนว่า เขตชนบท นั้น ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย (481/1,183)
อะไรคือปัจจัยที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ใช้-ไม่ใช้ ในการตัดสินใจ?
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นโยบาย และจุดยืนทางประชาธิปไตย ทั้งของพรรคการเมืองและตัวผู้สมัครเอง เป็นปัจจัยที่ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ ใช้ในการตัดสินใจ
นั่นหมายความว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนี้ พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทั้ง 2 ปัจจัย
ในทางตรงกันข้าม เงิน/ผลประโยชน์เพื่อการซื้อเสียง หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ส่วนตัว มีอิทธิพลน้อยมากในการตัดสินใจ โดยที่อิทธิพลของทั้ง 2 ปัจจัยนี้ มีแนวโน้มน้อยลงเรื่อย ๆ อย่างมีนัยสำคัญ
สวนทางกับรายได้ ของผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ เช่นเดียวกับที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ที่อาศัยอยู่ใน เขตชนบท ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากกว่าใน เขตเมือง
อย่างไรก็ดี จุดยืนต่อ มาตรา 112 ของพรรค และความน่าจะเป็นที่พรรคจะได้ร่วมรัฐบาล ก็เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ อยู่ไม่น้อย จุดยืนและท่าทีของพรรคการเมืองต่อ 2 ประเด็นนี้ จึงเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองต้องมีความชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบรรยากาศที่อุณหภูมิทางการเมืองร้อนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ นี้
ความชัดเจนและแนวโน้มของผลการเลือกตั้ง ณ วันนี้
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ครั้งนี้ ตอกย้ำให้เห็นว่า ณ วันนี้ (3 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง) พรรคเพื่อไทย ยังคงได้รับความนิยมและการสนับสนุนทางการเมือง สูงที่สุด
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า "พรรคก้าวไกล" ก็ได้รับความนิยมและการสนับสนุนทางการเมืองสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นขู่แค่งสำคัญที่เข้ามา “ตัดคะแนนกันเอง” รวมถึงเป็นอุปสรรคที่มีแนวโน้มจะทำให้ยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง จนไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว อย่างที่ได้พยายามรณรงค์ในการหาเสียงเลือกตั้งได้ รัฐบาลที่น่าจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงมีความน่าจะเป็นว่าจะเป็น “รัฐบาลผสม” อย่างแน่นอน
แนวโน้มที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ พรรคพลังประชารัฐ เริ่มกลับมาได้รับความนิยมและการสนับสนุนทางการเมืองสูงขึ้นอีกครั้ง สูงกว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ กลับมาเป็นแกนนำของกลุ่มอนุรักษ์นิยมอ่อนๆ ค่อนมาทางเป็นกลาง ด้วยการนำเสนอนโยบาย “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” อย่างต่อเนื่อง
แม้ผลการสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ครั้งนี้ จะไม่ได้ชี้ว่าโดยภาพรวม แนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งหลังการเลือกตั้ง เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในระดับมาก แต่ราว 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ก็ยอมรับว่ามันมีอิทธิพลต่อพวกเขาอยู่มาก ขณะที่ราว 1 ใน 3 ก็ยอมรับว่ามันมีอิทธิพลอยู่พอสมควร มีเพียงราว 1 ใน 5 เท่านั้น ที่ไม่คิดว่ามันมีอิทธิพลใด ๆ เลย
“ฉากทัศน์ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากต้องการให้เป็น” คือ พรรคเพื่อไทย จับมือร่วมกับ พรรคก้าวไกล และพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม จัดตั้งรัฐบาล มีความน่าจะเป็นที่จะสามารถรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้ราว ร้อยละ 60 หรือประมาณ 300 คน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากจำนวนดังกล่าวยังไม่ถึง 376 คน ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
“ฉากทัศน์ที่น่าจะเป็น” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้เงื่อนไขที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้รับการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ และไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ คือการที่ พรรคเพื่อไทย ต้องจับมือร่วมกับ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคการเมืองอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ได้คะแนนเสียงเพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาล และเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลือกตั้ง2566 : “ประยุทธ์” บอกกับคนตรัง ขอยกจังหวัด จะพัฒนาให้เจริญกว่านี้
เลือกตั้ง2566 : “วราวุธ” ลุยโค้งสุดท้าย หาเสียงในกรุงฯ ขอคะแนนให้ “ชาติไทยพัฒนา”
เลือกตั้ง2566 : กกต.เคาะแล้ว คนไทยกลับจากซูดาน เลือกตั้ง 14 พ.ค.ได้