วันนี้ (1 พ.ค.2566) กลุ่มผู้ใช้แรงงาน เป็นผู้มีสิทธิส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้นทุกๆ ครั้งที่มีการเลือกตั้ง นโยบายหนึ่งที่จะหยิบยกมาเป็นธงนำในการหาเสียง ก็คือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงานนั่นเอง ลองมาดูบางส่วนของพรรคการเมืองที่พูดถึงนโยบายแรงงาน
พรรคเพื่อไทย ซึ่งเน้นแรงค่าแรงขั้นต่ำเสมอ และมักจะเป็นนโยบายที่สร้างแรงกระเพื่อมได้มาก ตั้งแต่ตอนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศยกระดับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท และเงินเดือนจบปริญญาตรี 15,000 บาท ครั้งนี้เพื่อไทยชูค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนคนจบปริญญาตรี 25,000 บาท เสริมด้วยนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง สิทธิประโยชน์จ้างงานผู้สูงอายุ
พรรคก้าวไกล พูดถึงค่าแรงขั้นต่ำเช่นกัน โดยประกาศจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท และยังพูดถึงสิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้ ศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อน-เด็กก่อนวัยเรียนใกล้บ้าน ห้องปั๊มนมในที่ทำงาน แตะในเรื่องเวลาทำงานทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ หากเกิน ต้องได้ OT ไปจนถึงสัญญาจ้างงาน การตั้งสหภาพได้ ประกันสังคมถ้วนหน้า เจ็บป่วยได้เงินชดเชย รวมถึงค่าเดินทางหาหมอ เป็นต้น
พรรครวมไทยสร้างชาติ เน้นเรื่องการให้สิทธิประโยชน์กับแรงงานในระบบและจูงใจให้ประกันตน เช่น โครงการเพิ่มเงินสมทบของภาครัฐ เพื่อให้แรงงานในระบบประกันสังคมมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือเด็กแรกเกิดให้แรงงานในระบบเป็น 1,000 บาทต่อเดือน พัฒนาระบบจ้างงานรายชั่วโมง มาตรการภาษีจูงใจจ้างแรงงานสูงวัย ส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้าระบบประกันสังคม ม.40
พรรคพลังประชารัฐ ให้ความสำคัญในทางภาษี คือ ยกเว้นภาษีสำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี นำเงินค่าผ่อนบ้านหลังแรกมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200,000 บาทต่อปี เป็นต้น
พรรคประชาธิปัตย์ เน้นยกระดับคุ้มครองแรงงาน ซึ่งในรายละเอียดจะรวมถึงเรื่องการปรับอัตราค่าจ้างให้เหมาะกับค่าครองชีพ ยกระดับการคุ้มครองเด็กและสตรี สิทธิลาคลอด ศูนย์เด็กเล็กและการรวมตัวของลูกจ้าง ขยายสิทธิ สวัสดิการแรงงานนอกระบบ ยกระดับประกันสังคม ม.40 ส่งเสริมจ้างงานรายชั่วโมง ส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุ ผู้พิการ ปฏิรูปประกันสังคม
พรรคแรงงานสร้างชาติ ประกาศจะลดความเหลื่อมล้ำด้านการจ้างงานและสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตั้งธนาคารแรงงาน (Bank for Labour) บรรจุพนักงานจ้างเหมาของรัฐเป็นพนักงานราชการ สวัสดิการดูแลผู้ประกอบอาชีพอิสระ ประกันสังคมถ้วนหน้า รัฐสมทบ 600 บาท เป็นต้น
เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่า มีเพียงพรรคฝ่ายค้านปัจจุบันเท่านั้น ที่พูดถึงการยกระดับค่าแรงขั้นต่ำ ในขณะที่พรรคที่เป็นพรรครัฐบาลปัจจุบัน ไม่แตะเรื่องค่าแรงขั้นต่ำขั้นต้น แต่จะมองในแง่การปรับให้เหมาะสม และเน้นเพิ่มสิทธิแรงงาน รวมถึงสิทธิประโยชน์ผ่านประกันสังคมเสียเป็นส่วนมาก
และที่เห็นเพิ่มขึ้นชัดเจนในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือการจูงใจผู้ประกอบการ จ้างแรงงานสูงอายุ ที่เห็นทั้งเพื่อไทย รวมไทยสร้างชาติ และประชาธิปัตย์ ที่พูดถึงเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจน แต่อีกมุมอาจจะสะท้อนภาพสังคมสูงวัยบ้านเรา ว่าอาจยังไม่มีสวัสดิการรองรับที่เพียงพอกับการเกษียณอายุ แบบที่ไม่ต้องทำงานเสริม เพื่อรับมือกับค่าครองชีพ หรือแรงงานที่เริ่มไม่เพียงพอในปัจจุบัน ทำให้ต้องใช้แรงงานสูงวัยมาเสริมในส่วนที่ขาดหรือไม่
ภาคเอกชน จับตาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหลังพรรคการเมืองชูหาเสียง
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า นโยบายการปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2566 โดยมองว่าสิ่งสำคัญคือการพิจารณาค่าแรง ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่โดยผ่านคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี ดังนั้นรัฐควรจะปรับกฎหมาย ป้องกันการเมืองเข้าแทรกแซงโดยยอมรับว่านโยบายของบางพรรคค่อนข้างน่ากังวล เพราะปรับขึ้นค่อนข้างมาก และแต่ละพรรคก็ไม่ชัดเจนว่าจะปรับเท่ากันทั่วประเทศอีกหรือไม่
เช่นเดียวกับ นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการสายงานแรงงาน ที่มองว่ารัฐบาลใหม่ควรปล่อยให้เป็นกลไกของคณะกรรมการไตรภาคีที่จะมีการพิจารณาถึงความเหมาะสม หากมีการขึ้นค่าแรงตามนโยบายหาเสียงทันทีในอัตราที่สูงแบบก้าวกระโดด จะกระทบต่อธุรกิจที่กำลังเริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :