วันนี้ (2 พ.ค.2566) ชุดพนักงานสอบสวนของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตำรวจกองบังคับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 3 นำหมายค้นศาลอาญามีนบุรี เข้าตรวจสอบบริษัทแห่งหนึ่ง ย่านลาดกระบัง กทม.
สำหรับการเข้าค้นอาคารดังกล่าว หลังต้องสงสัยว่ามีการนำเข้าสารไซยาไนด์ เพื่อหาความเชื่อมโยงเกี่ยวกับคดีของนางสรารัตน์ หรือแอม ผู้ต้องหาคดีวางยาพิษไซยาไนด์
หลังจากตำรวจได้ข้อมูลมาจากการเก็บหลักฐานขวดไซยาไนด์ที่พบในถุงดำที่นางแอม ว่าจ้างให้นายตะวัน หลานของนายแด้ นำถุงดังกล่าวไปทิ้ง และเมื่อตรวจสอบหมายเลขการผลิตข้างขวดไซยาไนด์ดังกล่าว พบว่าตรงกับหมายเลขการผลิตที่บริษัทนี้ได้ทำการจำหน่าย จึงเข้ามาตรวจค้นหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม
อ่านข่าวเพิ่ม จ่อออกหมายจับคนสนิทเอี่ยว "แอม" ส่อโยงคดีวางยาไซยาไนด์
พบนำเข้าไซยาไนด์มาจำหน่าย
สำหรับบริษัทนี้ ลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น 2 คูหา ด้านหน้าปิดประตูเหล็กเอาไว้ ส่วนด้านในมีกล่องเก็บผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่แสดงหมายค้น พนักงานที่ดูแลบริษัท ก็ได้นำเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นด้านใน แต่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปถ่ายภาพ
ขณะที่นายวราวุฒิ พิทักษ์จำนงค์ เจ้าของร้านฮาร์ดแวร์ ซึ่งอยู่ติดกับบริษัทที่ตำรวจเข้าตรวจค้น บอกว่า บริษัทนี้เปิดมาได้ 3-4 ปีแล้ว เป็นโกดังเก็บสินค้าประเภทสารเคมีและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ รู้จักกับเจ้าของ แต่ไม่ได้คุยกันลึกๆ
ก่อนหน้านี้ โกดังไม่ปิดประตูด้านหน้า แต่ที่ปิดเพราะฝุ่นเยอะ เจ้าของกลัวของจะเสียหาย และมีพนักงาน 3-4 คน คอยดูแลแพ็คของอยู่ แต่ถ้ามีลูกค้ามารับของ ก็จะเปิดโกดังและปิดทันที และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เห็นว่าตำรวจสอบสวนกลาง เข้ามาตรวจค้นแล้ว ประมาณ 2 ครั้ง
เช็กสต็อกใครซื้อยาไนด์ไปบ้าง
ด้าน พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย คณะทำงานชุดคลี่คลายคดี กล่าวว่า การตรวจค้นเบื้องต้นไม่พบสารไซยาไนด์ แต่มีข้อมูลว่ามีการจำหน่ายจริง ซึ่งทางบริษัทให้การว่า บริษัทจะรับสารไซยาไนด์ ต่อมาจากบริษัทที่นำเข้ามาอีกทีหนึ่ง แล้วนำมาจำหน่ายให้กับผู้ซื้อ ซึ่งไม่ได้มีการสต็อกสินค้าไว้ แต่จะต้องให้ผู้ซื้อสั่งสินค้าเข้ามาแล้วจึงจะสั่งจากบริษัทนำเข้ามาแล้วส่งให้ผู้ซื้อทันที
ซึ่งในการซื้อขายสารไซยาไนด์ในปริมาณไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน ไม่ต้องมีใบอนุญาต โดยยอมรับว่าจุดนี้เป็นช่องโหว่ให้บุคคลทั่วไปสามารถครอบครองและซื้อขายสารดังกล่าวได้
หลังจากนี้จะดำเนินการตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ซื้อสารไซยาไนด์จากบริษัทนี้ทุกราย เพื่อหาความเชื่อมโยงกับคดีนางสาวแอม เพราะยังไม่มีข้อมูลว่านางแอมซื้อสารไซยาไนด์จากบริษัทนี้โดยตรงหรือไม่ แต่เบื้องต้นพบว่าเลขการผลิตตรงกันกับขวดที่เป็นหลักฐานที่พบในคดี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พบแหล่งที่มา "ไซยาไนด์" เตรียมขอหมายค้น จ่อออกหมายจับ "ตร." เอี่ยวคดี "แอม"
12 หมายจับ! "แอม" คดีไซยาไนด์ ศาลอุดรธานี อนุมัติคดี "ฆ่าแด้"
กรมสุขภาพจิตห่วง ปชช.เสพข่าวความรุนแรง ทำระแวงสังคม