วันนี้ (3 พ.ค.2566) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. สาธารณสุข เปิดกิจกรรม "Episode II วัคซีนคู่ สู้หน้าฝน" โดยระบุว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมในหลายพื้นที่ ทำให้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น
ประกอบกับข้อมูลทางระบาดวิทยา คาดการณ์ว่าโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ จะแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในฤดูฝน ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้นจะมีความเสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตได้
อ่านข่าวเพิ่ม คัมแบ็ก! ยอดติดโควิดสัปดาห์เดียวพุ่ง 2 เท่า 1,811 คน
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ขอให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และประชาชนกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ตามเกณฑ์ เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และ กลุ่ม 608 เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อนเข้าฤดูฝน
ยืนยันการฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิด มีความปลอดภัยสูง การศึกษาวิจัยของต่างประเทศไม่พบผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น จากการฉีดพร้อมกัน หลายประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ เริ่มตั้งแต่ปลายปี
อ่านข่าวเพิ่ม ดีเดย์เคาะฉีดวัคซีนโควิดปีละ 1 ครั้ง 1 เข็มต่อคน
เล็งจัดหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มอีก 8.6 แสนโดส
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า สธ.มีการเตรียมวัคซีนโควิด-19 ไว้อย่างเพียงพอ ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ต้องการให้กลุ่มเสี่ยงได้รับการฉีดครอบคลุมมากขึ้น จึงได้ปรับลดค่าบริการฉีดวัคซีนจาก 60 บาทเหลือ 20 บาทต่อครั้ง เพื่อให้ สปสช. นำเงินค่าบริการส่วนนี้ไปปรับเป็นงบประมาณจัดซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มเติม
บอร์ดสปสช.มีมติเห็นชอบให้จัดซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มอีก 8.6 แสนโดส เมื่อรวมกับวัคซีนที่สปสช. จัดซื้อสำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยงปีนี้ 4.4 ล้านโดส จะมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้บริการ 5.26 ล้านโดส
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเร่งรัดติดตามให้กลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัยได้รับวัคซีนครบถ้วนตามเกณฑ์ เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกันหมู่ของประเทศให้สูงเพียงพอต่อการป้องกันโรค
โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงต่อภาวะป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด-19 ที่คาดว่าจะมีการระบาดเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูฝน การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทั้ง 2 โรคควบคู่กันจึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่จะช่วยปกป้องกลุ่มเสี่ยงและคนรอบข้างได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"หมอยง" ชี้โควิดไม่ได้หายไป เป็นโรคประจำฤดูกาล เตือน 30% เสี่ยงติดเชื้อซ้ำ