ปรากฏการณ์ “หักปากกาเซียน” ของพรรคก้าวไกล จะเกิดขึ้นหรือไม่ อีกไม่กี่อึดใจคงได้เห็น แต่ที่แน่ๆ ผลการสำรวจบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ของนิด้าโพล ครั้งที่ 3 (3 พ.ค.2566 ) ชี้ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีคะแนนนิยมมาเป็นลำดับ 1 อยู่ที่ 35.44%
ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย อยู่ลำดับ 2 ได้ 29.20% และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ “ลุงตู่” ประธานยุทธศาสตร์ฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ คะแนนนิยมมาเป็นลำดับ 3 ได้ 14.84%
การสำรวจพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต พรรคเพื่อไทย ยังมาเป็นลำดับหนึ่ง 38.32% ตามด้วยพรรคก้าวไกล 33.96% ทิ้งห่างเพียง 6% แบบชนิดหายใจรดต้นคอ ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติอยู่ลำดับ 3 ได้เพียง 12.08% จะเห็นได้ว่าตัวเลขทิ้งช่วงห่างอย่างน่าใจแป้ว
ผลสำรวจพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า พรรคก้าวไกลมาแรงไม่ใช่เล่น แม้ “เพื่อไทย” จะได้ถึง 37.92% แต่ “ก้าวไกล” ขยับขึ้นมาที่ 35.36% ขณะที่ “รวมไทยสร้างชาติ” มาเป็นลำดับ 3 ได้ 12.84%
มีการวิเคราะห์กันว่า ผลโพลของหลายสำนักให้ข้อมูลไม่แตกต่างกันมากนัก ยกเว้นโพลของหน่วยงานความมั่นคง และหากคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลยังนำโด่งพรรคการเมืองอื่นๆ ในช่วงก่อนเข้าโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง มีความเป็นไปได้สูงกว่าความนิยมในตัวของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะแปรมาเป็นคะแนนให้พรรคก้าวไกลได้ไม่ยาก
และไม่ยากที่จะส่งผลให้พรรคก้าวไกลได้ ส.ส.ทั้งระบบบัญชีรายชื่อและระบบเขตเลือกตั้งทะลุ 100 ที่นั่ง และมีความเป็นไปได้สูงว่าในพื้นที่ กทม. ก้าวไกลอาจได้ ส.ส.มากกว่าจังหวัดอื่นๆ ซึ่งปรากฏการณ์แฟนคลับแห่ฟังการปราศรัยของนายพิธาที่ย่านมิตรทาวน์ น่าจะอธิบายได้ ไม่ต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน จ.ภูเก็ต
จึงไม่แปลก หากความหวั่นไหวจะเกิดกับพรรคเพื่อไทย แม้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร “อุ๊งอิ้ง” ซึ่งอยู่ในระยะพักฟื้นจากคลอดลูก ตั้งโต๊ะแถลงข่าวที่โรงพยาบาลพระราม 9 ยืนยันพร้อมสู้ศึกโค้งสุดท้าย และตอบคำถามเรื่องผลโพลว่ามีทั้งเชื่อถือได้และไม่ได้ แม้บางพรรคผลโพลจะคะแนนดีขึ้นก็ตาม
ประชาชนต้องใช้วิจารณญาณดูนโยบายว่า พรรคไหนที่จะเปลี่ยนอนาคตของประชาชนได้จริงและให้เลือกตั้งให้มีระบบ มียุทธศาสตร์ เลือกตั้งให้เพื่อไทยชนะถล่มทลาย เพื่อให้สามารถเปลี่ยนได้เลย
กลับมาดูตัวเลขผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปี 2566 จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า มี 52,322,824 คน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก อายุระหว่าง 18-22 ปี มี 4,012,803 คน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้สูงอายุ อายุ 58 ปีขึ้นไป มี 14,378,037 คน
หากแยกผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามช่วงวัย แบ่งได้ดังนี้ กลุ่มคน Gen Z อายุระหว่าง 18-25 ปี มี 6,689,453 คน กลุ่มคน Gen Y อายุระหว่าง 26-41 ปี มี 15,103,892 คน ส่วนคน Gen X อายุระหว่าง 42-57 ปี มี 16,151,442 คน และคน Gen Baby Boomers อายุระหว่าง 58-76 ปี มี 11,844,939 คน
แม้พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกัน แต่ตัวเลขคนรุ่นใหม่คน Gen Z ซึ่งเป็น New Voter มีตัวเลข 6,689,453 คน ขณะที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องการคะแนนเสียง 70,000 เสียง เพื่อให้ได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง
หมายความว่า หากคนรุ่นใหม่ออกมาเลือกตั้งทั้งหมด ก็จะแปรคะแนนเลือกตั้งได้ ส.ส.ประมาณ 100 ที่นั่ง ขณะที่กลุ่มคน Gen Y ซึ่งมีถึง 15 ล้านคน โดยคนทั้ง 2 เจนเนอเรชัน มักมีแนวคิดทางการเมืองที่ต่างไปจากคน Gen X และ Gen Baby Boomers ด้วยเหตุใช้สื่อโซเชียลและออนไลน์เป็นช่องทางในการรับรู้ข้อมูลมากกว่า
จึงทำให้มีความคิดวิเคราะห์-คิดต่าง-เห็นต่างกัน เห็นได้ว่าแม้การเลือกตั้งคือวิถีทางประชาธิปไตย แต่การหาเสียงของพรรคการเมืองยังแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม และฝ่ายประชาธิปไตย
ดังนั้น หากผลโพลในช่วงก่อนถึงโค้งสุดท้าย จะชี้ภาพนายกฯ คนใหม่ไปที่เบอร์ 1 ของ “ก้าวไกล” หรือ “เพื่อไทย” ตามฐานเสียงของคนรุ่นใหม่ รวมกับคนเจนอื่นๆ ที่เบื่อ “ลุงตู่” อยู่ยาว การ “หักปากกาเซียน” ก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก
แต่ก็ไม่ควรลืมว่า นอกเหนือจากคะแนนนิยม ยังมีการสู้กลับของกลุ่มคน Gen Baby Boomers หรือ “กลุ่มช้างป่วย” กลุ่ม “ข้าราชการเกษียณ” มีถึง 12 ล้านคน ที่รวมพลังผ่านช่องทางต่างๆ สู้เพื่อให้ “ลุงตู่” ได้อยู่ต่อ มาลุ้นกันว่า คนเจนไหนจะส่งใครนั่ง “นายกฯ”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลือกตั้ง2566 : วิเคราะห์ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ท้าทาย “บ้านใหญ่” บุรีรัมย์
เลือกตั้ง2566 : "อุ๊งอิ๊ง" ลั่นเลือกเพื่อไทยให้แลนด์สไลด์ ไม่ต้องรอลุ้นแบบปี 62