ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สหรัฐฯ เตรียมเผชิญ "คลื่นการอพยพ" หลัง "Tilte 42" หมดอายุวันนี้

ต่างประเทศ
12 พ.ค. 66
07:11
2,116
Logo Thai PBS
สหรัฐฯ เตรียมเผชิญ "คลื่นการอพยพ" หลัง "Tilte 42" หมดอายุวันนี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ช่วงสายวันนี้ตามเวลาประเทศไทย ข้อบังคับเกี่ยวกับการเข้าเมืองของผู้อพยพที่สหรัฐฯ หรือ Title 42 ที่บังคับใช้ต่อเนื่องมา 3 ปี กำลังจะสิ้นสุดลง ทำให้เกิดกระแสกังวลถึงปัญหาที่จะตามมา โดยเฉพาะคลื่นผู้อพยพจากละตินอเมริกาที่จะทะลักเข้าสหรัฐฯ

วันนี้ (12 พ.ค.2566) สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน สัปดาห์ที่ผ่านมา มีภาพของผู้อพยพจำนวนมากที่พยายามข้ามแดนเข้าสหรัฐฯ ทั้งที่รออยู่บริเวณชายแดนหรือลักลอบข้ามเข้าไป เพื่อต้องการได้รับอนุญาตให้อยู่ในสหรัฐฯ ชั่วคราว ก่อนที่การบังคับใช้ Title 42 กำลังจะสิ้นสุดลงในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้

กลุ่มผู้อพยพที่มีเด็กเล็กๆ อยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก รวมตัวกันอยู่ที่ซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ใกล้กับจุดผ่านแดนจากเม็กซิโก ท่ามกลางการดูแลของเจ้าหน้าที่ ขณะที่มีผู้อพยพอยู่ทั้ง 2 ฝั่งของพรมแดนสหรัฐฯ และเม็กซิโกเป็นจำนวนมาก

จุดผ่านแดน San Ysidro เป็นด่านตรวจคนเข้าเมืองที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระบุว่า ควบคุมตัวผู้อพยพที่ผ่านเข้าสหรัฐฯ ได้วันนับหมื่นคน

ขณะที่ภาพมุมสูงเผยให้เห็นผู้อพยพจำนวนมากเข้าแถวรออยู่บริเวณจุดผ่านแดนที่ติดกับ เอล ปาโซ รัฐเท็กซัส เพื่อรอข้ามเข้าสหรัฐฯ ทันทีที่ข้อบังคับ Title 42 หมดอายุลง โดยคนจำนวนนับหมื่นที่ลักลอบข้ามแดนเข้าสหรัฐฯ ในแต่ละวัน ต่างตั้งความหวังว่าจะได้รับอนุญาตให้พำนักในสหรัฐฯ เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า

ผู้อพยพจำนวนมากเดินทางและเดินเท้าจากหลายประเทศในละตินอเมริกาผ่านเม็กซิโก เพื่อผ่านเข้าสหรัฐฯ โดยหลายคนหนีความรุนแรง การประหัดประหาร ขณะที่บางส่วนแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ เพื่อชีวิตที่ดีกว่าหรือเดินทางมาสหรัฐฯเพื่อมาหาสมาชิกในครอบครัวและญาติมิตรที่ได้อพยพมาก่อนแล้ว

ชาวต่างชาติต่อแถวข้ามแดน

ชาวต่างชาติต่อแถวข้ามแดน

ชาวต่างชาติต่อแถวข้ามแดน

Title 42 จะสิ้นสุดการบังคับใช้ เวลา 23.59 น. ตามเขตเวลาตะวันออก (Eastern Time) ซึ่งขณะช้ากว่าเวลาไทย 11 ชั่วโมง หรือตรงกับ 10.59 น. วันนี้ (12 พ.ค.) ตามเวลาประเทศไทย หลังจาก เดือนมี.ค. 2563 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ประกาศใช้มาตรการนี้ โดยระบุเหตุผลว่าเพื่อยับยั้งการระบาดของโควิด-19 ซึ่งในเวลานั้นก็พอดีกันกับแนวทางการบริหารประเทศของ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีต ปธน.สหรัฐฯ ที่ต้องการกีดกันผู้อพยพอยู่แล้วทำให้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักสิทธิมนุษยชน

ส่วนหนึ่งของมาตรการนี้ ใช้เหตุผลว่าสถานที่ซึ่งจัดไว้รองรับผู้อพยพเหล่านี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการกักกันโรคและไม่ได้มีการเว้นระยะห่างทางสังคมที่จะทำให้ปลอดภัยจากการระบาดของโควิด-19ได้ แต่มาตรการนี้ยกเว้นการบังคับใช้กับเด็กที่เดินทางมาเพียงลำพัง

สหรัฐฯ เตรียมสิ้นสุดการบังคับใช้ "Title 42"

ข้อบังคับ "หัวข้อ 42 (Title 42)" เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายสาธารณสุขปี ค.ศ. 1944 หรือ พ.ศ.2487 ที่เปิดทางให้จำกัดการอพยพหรือนำเข้าสิ่งของต่างๆ ได้เพื่อความปลอดภัยด้านสาธารณสุข

กฎนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ชายแดน สามารถปฏิเสธการเข้าประเทศของผู้อพยพได้ทันที ภายใน 10 นาที ลัดขั้นตอนจากปกติที่จะต้องมีการขึ้นทะเบียนผู้อพยพ เพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายขอลี้ภัยได้หรือไม่ ที่อาจต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงหรือมากกว่านั้น

ช่วงกว่า 3 ปีที่สหรัฐฯ นำ Title 42 มาบังคับใช้ มีสถิติการส่งตัวผู้อพยพกลับออกไปนอกสหรัฐฯ มากกว่า 2,800,000 ครั้ง แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่าตัวเลขนี้รวมถึงผู้อพยพบางคนที่พยายามเข้าสหรัฐฯ ซ้ำๆ หลายครั้ง เนื่องจาก Title 42 ไม่ได้มีการคาดโทษหรือผลระยะยาวใดๆ มีเพียงค่าปรับที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนครั้งเท่านั้น

ผู้ประท้วงให้สหรัฐฯ ยกเลิก Title 42

ผู้ประท้วงให้สหรัฐฯ ยกเลิก Title 42

ผู้ประท้วงให้สหรัฐฯ ยกเลิก Title 42

ทำให้หลายคนพร้อมที่จะลองเสี่ยงลักลอบเข้าสหรัฐฯ หลายต่อหลายครั้งเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ปรากฏว่ามีการบังคับใช้อย่างไม่เท่าเทียมกันในบรรดาผู้อพยพทั้งหมดโดยจะมีผู้อพยพบางสัญชาติที่ส่งกลับประเทศได้ยากกว่า เช่น เวเนซุเอลา คิวบา

สถิติระบุว่า จริงๆ แล้วมีการบังคับใช้ Title 42 กับประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนผู้อพยพทั้งหมด คนส่วนมากที่ถูกปฏิเสธการเข้าสหรัฐฯ ทันทีมักมาจากเม็กซิโก และ อเมริกากลาง โดยมีคนที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในสหรัฐฯ ชั่วคราว กว่า 1,800,000 คน ก่อนจะถูกดำเนินการตามขั้นตอนของศาลหรือการลี้ภัยต่อไป

ในช่วงที่มีการบังคับใช้ Title 42 กลายเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในการจัดการกับการเข้าประเทศของผู้อพยพ โดยไม่ก่อให้เกิดการแออัดที่ตามจุดผ่านแดนหรือชุมชนต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมชายแดนติดกับเม็กซิโก

เมื่อ Title 42 จะหมดอายุลง ต่อไปเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐฯ จะต้องทำตามขั้นตอนปกติ ที่เปิดให้ผู้อพยพยื่นเรื่องขอลี้ภัยได้ โดยจะต้องสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัย เพื่อตรวจสอบว่าพวกเขาจะเผชิญอันตรายจริงหรือไม่ หากเดินทางหรือถูกส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิด ถ้าใครที่กำลังเผชิญสถานการณ์เสี่ยง สามารถอยู่ในสหรัฐฯ ไปก่อนได้ชั่วคราว จนกว่าจะมีการพิจารณาเป็นลำดับถัดไป

ขั้นตอนเหล่านี้เองที่น่ากังวล เพราะต้องใช้เวลานาน และจะทำให้ศูนย์ต่างๆ ที่ต้องรองรับผู้อพยพ แออัดหรืออาจล้นไปจนถึงพื้นที่ภายนอก รวมถึงสะพานและด่านพรมแดนต่างๆ จนทำให้ผู้อพยพต้องเผชิญสภาพอันย่ำแย่

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถิติการข้ามแดนเข้าสหรัฐฯ เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่ทางองค์การสหประชาชาติ เรียกขานว่าเป็น "คลื่นการอพยพ" ที่เกิดขึ้นในระดับโลก

รัฐบาลไบเดน พยายามยุติข้อบังคับนี้มาแล้ว 2 ครั้ง แต่ถูกขัดขวางโดยคำสั่งศาล หลังหลายรัฐรวมตัวยื่นฟ้องคัดค้าน

อ่านข่าวอื่นๆ : 

สภาพอากาศวันนี้ "โมคา" เตรียมขึ้นฝั่ง ไทยกระทบฝนตกหนักต่อเนื่อง

เปิดคลิป! หนุ่มบุกเดี่ยวค้อนทุบกระจกร้านปืนฉก 9 มม.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง